การจัดการคุณภาพน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลาดุก

คุณภาพน้ำในแต่ละฟาร์มจะแตกต่างกันไปตามแหล่งน้ำ ชนิดของอาหาร การจัดการในการให้อาหาร และความหนาแน่นของลูกปลา ดังนั้นแต่ละฟาร์มก็จะมีรายละเอียดในการปฏิบัติงานต่างกัน แต่หลักการโดยทั่วไปก็คงจะเป็นเช่นเดียวกัน

การดูแลคุณภาพน้ำในช่วงการเลี้ยงเดือนแรก ซึ่งปลายังเล็กอยู่ไม่มีปัญหามากนัก ฟาร์มส่วนใหญ่ใช้วิธีเพิ่มระดับน้ำในบ่อทุกวัน หรือวันเว้นวัน แล้วแต่สีน้ำ โดยจะสังเกตว่าน้ำที่ดีจะมีสีเขียวอ่อนค่อนข้างใส เมื่อวัดด้วยแผ่นวัดความขุ่นใส
(เช็คชิ ดิช) ตามวิธีที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ค่าที่อ่านได้ไม่ควรต่ำกว่า 15 เซนติเมตร ถ้ามีค่าต่ำกว่านี้ก็จะเพิ่มน้ำในบ่อ หรือเมื่อสังเกตว่าระดับน้ำในบ่อลดลง ก็ต้องเติมน้ำ ถ้าควบคุมการให้อาหารให้ดีในช่วงเดือนแรกนี้ อาจไม่ต้องถ่ายน้ำเลย เพียงแต่เพิ่มน้ำก็เพียงพอแล้ว

เมื่อย่างเข้าเดือนที่
2 ปลาเริ่มโตขึ้น หากน้ำมีสีเขียวขุ่นก็ควรถ่ายน้ำทันที โดยปกติในช่วงเดือนที่ 2 นี้มักจะถ่ายน้ำ 5-7 วันต่อครั้ง โดยถ้าน้ำไม่เสียมากจะถ่ายเพียง 25 – 30 % หมายความว่าสูบน้ำหรือปล่อยน้ำออกจากบ่อ จนระดับน้ำลดลงไป 25-30 ซม. (ระดับน้ำในบ่อ 1 เมตร) แล้วสูบน้ำเข้าให้เท่าเดิม แต่ถ้าน้ำเสียรุนแรง อาจต้องถ่ายถึงครึ่งบ่อ (50%) ถ้าเป็นไปได้ควรใช้วิธีสูบออกและเข้าพร้อมกัน หรือที่เรียกว่าไล่น้ำ น้ำจะค่อยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติดีขึ้นอย่างค่อนเป็นค่อยไป ไม่ฮวบฮาบ

ในเดือนที่
3 เป็นต้นไป ปลาจะแน่นบ่อ อาหารก็ต้องให้มากขึ้นตามความต้องการของปลา จึงจำเป็นต้องถ่ายน้ำบ่อยครั้งขึ้น โดยดูจากสีน้ำเป็นเกณฑ์เช่นเดียวกัน เกษตรกรส่วนใหญ่จะถ่ายน้ำทุกๆ 3 วัน ในช่วงนี้โดยถ่ายวันละ 30-50 %

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือเมื่อจะถ่ายน้ำ ต้องดูให้แน่ใจก่อนว่าน้ำที่จะสูบเข้าบ่อนั้นต้องมีคุณภาพดีกว่าน้ำในบ่อ

การดูแลดังที่ได้กล่าวมานี้ ใช้ได้ทั้งในการเลี้ยงปลาดุกด้าน ปลาดุกอุย บิ๊กอุย และปลาดุกยักษ์ แต่สำหรับปลาบิ๊กอุยและปลาดุกยักษ์ ในกรณีที่น้ำมีจำกัดอาจพิจารณาลดการถ่ายน้ำลงได้บ้างตามความจำเป็น แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้น้ำเน่าเสียจนดำและส่งกลิ่นเหม็น เพราะอาจทำให้ปลาเกิดความเครียดและเป็นโรคได้ ซึ่งในกรณีที่น้ำคุณภาพไม่ดี เมื่อเกิดโรคแล้วจะยิ่งควบคุมยาก นอกจากนั้นผู้เลี้ยงควรคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคตลอดจนภาพพจน์ของการเลี้ยงปลาดุกด้วย ดังที่สมัยหนึ่งประชาชนเคยมีภาพพจน์ว่าการเลี้ยงปลาดุกนั้นสกปรก ผู้บริโภคบางกลุ่มรังเกียจปลาดุกที่ได้จากบ่อเลี้ยง ภาพพจน์เพิ่งจะหายไปเมื่อเกษตรกรเปลี่ยนมาเลี้ยงปลาดุกด้วยอาหารเม็ด แต่เมื่ออาหารสดเริ่มเข้ามามีบทบาท ผู้เลี้ยงก็ควรจะระมัดระวังในจุดนี้ไว้บ้าง มิฉะนั้นจะมีผลเสียถึงตลาดอย่างแน่นอน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay