การผลิตพืชแบบอินทรีย์

ประเด็นปัญหาของการผลิตพืชแบบอินทรีย์เป็นเรื่องของโรค แมลง และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงปริมาณของผลผลิตและผลตอบแทนที่เกษตรกรจะได้รับ รายละเอียดประเด็นพิจารณามีดังต่อไปนี้

1. ผลผลิต (Yield) ด้วยข้อจำกัดห้ามใช้สารเคมีกำจัดโรค ศัตรูพืช ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดวัชพืช จึงทำให้ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ของเกษตรอินทรีย์ต่ำกว่าผลผลิตที่ได้รับจากการผลิตโดยวิธีทั่วไป (conventional) และยังต้องใช้แรงงานมากขึ้นในการดูแลรักษา ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการผลิตของพืชอินทรีย์สูงกว่าต้นทุนการผลิตพืชด้วยวิธีทั่วไป ดังนั้น ราคาขายและผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับ จึงเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าเกษตรกรจะตัดสินใจผลิตพืชอินทรีย์ชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดหรือไม่

2. เนื้อที่การผลิต สืบเนื่องจาก ข้อ 1 ผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่การผลิตของการผลิตแบบอินทรีย์ต่ำกว่าผลผลิตของการผลิตแบบทั่วไป ดังนั้น ถ้าจะผลิตให้ได้ในปริมาณเดียวกับที่เคยผลิตได้อยู่เดิม โดยการผลิตแบบอินทรีย์ก็จำเป็นที่จะต้องใช้เนื้อที่ในการผลิตมากกว่าเดิม ความจำเป็นในการเพิ่มเนื้อที่การผลิตนี้ นำไปสู่ประเด็นพิจารณาการใช้ทรัพยากรดินอย่างมีประสิทธิภาพ และการเสาะหาพื้นที่ดินที่มีความเหมาะสมต่อการผลิตแบบอินทรีย์ โดยเฉพาะความเหมาะสมด้านความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในกรณีหลังนี้ถ้าต้องใช้เนื้อที่ในการผลิตมาก พื้นที่ดินที่มีความเหมาะสมกับการผลิตก็จะเป็นข้อจำกัดในการผลิตได้

3. สารเคมี การห้ามใช้สารเคมีสังเคราะห์อันได้แก่ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดโรคและศัตรูพืช และสารเคมีกำจัดวัชพืช นอกจากจะส่งผลกระทบถึงผลผลิตและประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว ในการผลิตพืชผลบางชนิด การงดใช้สารเคมียังอาจส่งผลด้านลบต่อความปลอดภัยของผลิตผลเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของการงดใช้สารกำจัดเชื้อรา (Fungicide) ทั้งนี้ เพราะเชื้อราหลายชนิดสร้างสารพิษ (toxin) ที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น เชื้อรา Aspergillus บางชนิดสร้างสารพิษ Aflatoxin ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เชื้อรา Fusarium บางชนิดสร้างสารพิษ Vomitoxin ซึ่งเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร และ Zearalenone ซึ่งเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ การห้ามใช้สารกำจัดเชื้อราทำให้ผลิตผลเกษตรอินทรีย์มีโอกาสปนเปื้อนเชื้อราและสารพิษที่กล่าวมาแล้วสูงกว่าผลิตผลที่ผลิตโดยวิธีทั่วไป (conventional) นอกจากนี้ การงดใช้สารเคมีกำจัดโรคและศัตรูพืชยังอาจสร้างปัญหาทางด้านการกักกันพืช (plant quarantine) ในการส่งสินค้าเข้าตลาดที่มีความเข้มงวดทางด้านมาตรการกักกันอีกด้วย

4. การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน ประเด็นปัญหาที่มีผู้เสนอข้อคิดเห็นกันมากอีกประเด็นหนึ่ง คือด้านการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งในการผลิตพืชผลแบบทั่วไปนั้น เกษตรกรสามารถปรับระดับแร่ธาตุต่างๆ ในดินให้สอดคล้องกับความต้องการของพืชเป้าหมายได้โดยใช้ปุ๋ยเคมี ในขณะที่การปรับความอุดมสมบูรณ์ของดินในการผลิตพืชแบบอินทรีย์จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และต้องพึ่งพาการทำงานของเชื้อจุลินทรีย์ดิน เช่น การย่อยสลายสารอาหาร การตรึงไนโตรเจน ซึ่งไม่สามารถกำหนดสัดส่วนของธาตุอาหารให้เป็นไปตามความต้องการของพืชเป้าหมายได้ หรืออาจจะทำได้โดยยากลำบากอย่างยิ่ง

5. สิ่งแวดล้อม การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรให้ยั่งยืน นับเป็นจุดขายที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของผลิตผลเกษตรอินทรีย์ นอกเหนือไปจากจุดขายด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างน้อย การเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินเป็นไปโดยกระบวนการทางชีววิทยา ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ การงดใช้สารเคมีสังเคราะห์ต่างๆ เอื้อให้สิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดในระบบนิเวศน์สามารถปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุล การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ช่วยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน เพื่อรองรับการผลิตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งนับเป็นอานิสงส์ที่สำคัญของการผลิตแบบอินทรีย์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay