ไก่ป่าเลี้ยงไม่ยากเลี้ยงเหมือนไก่พื้นบ้าน

ไก่ป่าเมืองไทยมี 2 สายพันธุ์

ไก่ป่าที่พบอยู่ในบ้านเราจะมีลักษณะสีสันคล้ายกับไก่ชน จะแตกต่างกันตรงที่ไก่ป่าจะมีลำตัวที่เล็กกว่า ขายาว หงอนใหญ่และแข้งมีสีเทาดำเหมือนกระดานชนวน (ไก่แจ้จะมีแข้งสีเหลือง) จากการสำรวจพบไก่ป่าเพียง 2 สายพันธุ์ คือ ไก่ป่าตุ้มหูขาวและไก่ป่าตุ้มหูแดง ปัจจุบันมีหลายคนได้มีการนำไก่ป่ามาเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงามเลี้ยงเหมือนกับไก่พื้นบ้าน สามารถปรับตัวได้ไม่ยากนัก เป็นไก่ที่ชอบหากินเองและเลี้ยงแบบปล่อยไม่สิ้นเปลืองค่าอาหาร มีข้อดีตรงที่ไก่ป่ามีประสาทสัมผัสที่ไวมากทำให้หลบหนีศัตรูได้ว่องไวโดยเฉพาะจากสุนัขและแมว แต่อาจจะมีข้อเสียตรงที่เลี้ยงให้เชื่องยากเพราะเป็นสัตว์ที่มีนิสัยระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา

คุณณรงค์ อุทัยเนตร อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้หนึ่งที่คลุกคลีกับการเลี้ยงไก่ป่ามานานและได้นำไก่ป่ามาผสมพันธุ์เพื่อให้ได้ลูกไก่ที่มีความเชื่องและได้มีความพยายามดึงเอา ลักษณะเด่นของไก่ป่าออกมาเพื่อให้ไก่มีความสวยงามมากขึ้น เริ่มต้นจากได้พ่อ-แม่พันธุ์ไก่ป่าที่มีสีเดียวกัน (ลักษณะของขนตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน) นำมาผสมพันธุ์ได้ลูกไก่ป่าออกมา 2-3 ชุด พบว่าขนของลูกมีสีเหมือนกันหมดดูสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง คุณณรงค์ยังได้อธิบายถึงวิธีการเลี้ยงไก่ป่าไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด ได้เปรียบในเรื่องของภูมิคุ้มกันและทนทานต่อโรค แข็งแรงไม่อ่อนแอ จะเลี้ยงแบบปล่อยหรือเลี้ยงรวมกันเป็นกรงใหญ่ก็ได้ แต่การเลี้ยงไก่ป่าของคุณณรงค์จะเลี้ยงแบบแยกกรงเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์และผสมพันธุ์ โดยใช้ขนาดของกรงกว้าง 1.5 เมตร, ยาว 3 เมตรและสูง 1.8 เมตร โดยจะขังตัวผู้ต่อตัวเมีย อัตรา 1:3 หรือ 1:5 ข้อดีของการเลี้ยงด้วยวิธีแยกกรงจะสะดวกต่อการเลี้ยงดู ป้องกันโรคระบาดในส่วนหนึ่ง แม่ไก่ป่าจะเริ่มให้ไข่เมื่อมีอายุได้ประมาณ 6-8 เดือน โดยเฉลี่ยจะให้ไข่ปีละ 4 ชุด ๆ ละ 8-12 ฟอง จะใช้เวลาฟักจากไข่เป็นตัวประมาณ 21 วัน สำหรับการให้อาหารส่วนใหญ่จะใช้ข้าวเปลือก, รำข้าวและเสริมด้วยอาหารไก่สำเร็จรูป ถึงแม้ไก่ป่าจะมีความทนทานต่อโรคกว่าไก่พื้นบ้านผู้เลี้ยงยังมีความจำเป็นในการทำวัคซีนและดูแลสุขอนามัยของโรงเรือนเลี้ยงให้มีความสะอาดอยู่เสมอ

คุณณรงค์ยังได้บอกว่าการเริ่มต้นนำสัตว์ป่ามาเลี้ยงจุดสำคัญคือ การทำความคุ้นเคย เนื่องจากนิสัยสัตว์ป่าจะระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราให้ความคุ้นเคยและเข้าไปคลุกคลีบ่อย ๆ จะเหมือนกับสัตว์เลี้ยงทั่วไปโดยเฉพาะลูกไก่ป่าที่ได้จากผสมพันธุ์จะคุ้นเคยง่ายเพราะไม่ได้เกิดในป่า ลูกไก่ป่าที่ได้จากการผสมพันธุ์จากฝีมือมนุษย์จะจำหน่ายเมื่อลูกไก่มีอายุเฉลี่ย 2-3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงอายุที่บอกเพศได้แล้ว ส่วนใหญ่จะซื้อ-ขายกันเป็นคู่ราคาคู่ละ 500 บาท แต่ถ้าเป็นไก่ป่ารุ่นหนุ่มสาวที่มีอายุราว 6-7 เดือน จะซื้อ-ขายกันราคาคู่ละ 800-1,500 บาท ในขณะนี้ตลาดนิยมไก่ป่าสายพันธุ์ตุ้มหูขาวมากกว่าตุ้มหูแดง เพราะคนที่ไม่รู้จักและไม่คุ้นเคยกับไก่ป่าอาจจะดูไก่ป่าตุ้มหูแดงเป็นไก่แจ้ก็ได้

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay