พฤติกรรมกับสุขภาพของแพะ

ในการเลี้ยงแพะโดยทั่วไป ผู้เลี้ยงเป็นบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกับสัตว์ สามารถสังเกตสภาวะหรือลักษณะทางสุขภาพสัตว์ได้ว่ามีสุขภาพดีหรือไม่ ซึ่งในการสังเกตลักษณะทางสุขภาพ สามารถทำได้โดย

1. สังเกตจากกิริยาท่าทางของสัตว์ เช่น การเดิน การกินอาหาร การพักผ่อน การเคี้ยวบดอาหาร การหายใจตลอดจนกิริยาท่าทางในการออกกำลังกาย เป็นต้น

2. สังเกตจากสภาพทั่วไปของร่างกาย เช่น สภาพของผิวหนัง ขน การขับเหงื่อ นัยน์ตา และเยื่อหุ้มตามอวัยวะต่าง ๆ การขับถ่าย ปัสสาวะ และสภาพการกินอาหาร

3. สังเกตจากรูปร่าง ทรวดทรงของร่างกาย: สัตว์ที่มีสุขภาพที่ดีจะมีรูปร่างและทรวดทรงได้สัดส่วนถูกต้องตามลักษณะประจำพันธุ์ มีกล้ามเนื้อแข็งแรงเต็ม น้ำหนักได้ขนาดตามอายุ มีความเติบโตของร่างกายอย่างได้รูปทรง

4. การสังเกตจากอารมณ์และนิสัยของสัตว์: แพะที่มีสุขภาพดี จะมีอารมณ์และนิสัยร่าเริงอยู่กันเป็นหมู่ ไม่ดุร้าย นิสัยค่อนข้างเชื่อง นิสัยและอารมณ์ที่เปลี่ยนไปจะเกิดขึ้นได้ตามภาวะของสุขภาพร่างกาย

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพของร่างกายที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วย เป็นโรค สามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ

1. สาเหตุโน้มนำที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ได้แก่ สาเหตุจากสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ หรือภายนอกร่างกายสัตว์ เช่น สภาพการกินอาหาร ที่อยู่อาศัย สภาพดินฟ้าอากาศ และสภาพการจัดการเลี้ยงดูสัตว์ และสภาพที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเอง เช่น การเปลี่ยนแปลงตามอายุ เพศ พันธุ์ สี พันธุกรรม และการทำงานของร่างกายเอง

2. สาเหตุจากการได้รับหรือทำให้เกิดการเจ็บป่วยโดยตรง ได้แก่ การได้รับเชื้อจุลินทรีย์ และพยาธิที่ทำให้เกิดโรคเชื้อติดต่อ การขาดสิ่งจำเป็นในร่างกายในการดำรงชีวิต หรือการได้รับสิ่งมีพิษต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมและจากการได้รับบาดเจ็บ จากสภาพต่าง ๆ ของการเลี้ยงดูสัตว์ 

สำหรับการแสดงออกของการเป็นโรคนั้น เป็นสภาวะของการเปลี่ยนแปลงออกไปจากร่างกายในภาวะปกติ ซึ่งว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพร่างกายสัตว์ที่ทำให้ผู้เลี้ยงหรือผู้ดูแลพบเห็นได้ในลักษณะของการเจ็บป่วย ได้แก่

1. การแสดงออกจากลักษณะอาการทั่ว ๆ ไป ที่เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพปกติ เช่น กิริยาท่าการเดิน การวิ่ง การกินอาหาร การขับถ่ายต่าง ๆ ของร่างกาย

2. การแสดงออกทางการหายใจ สัตว์แสดงออกโดยการหายใจอึดอัด มีเสียงดัง ไอ จาม มีน้ำมูกไหล แสดงถึงมีอาการเจ็บป่วยในระบบของการหายใจ

3. การแสดงออกจากการเปลี่ยนของกระบวนการย่อยอาหาร เช่น การเบื่ออาหาร การอาเจียน การปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องผูก ท้องร่วง การเคี้ยวและบดอาหาร อาหารเหล่านี้บ่งบอกถึงอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับระบบการย่อยอาหาร

4. การแสดงออกจากการเปลี่ยนของระบบขับถ่ายปัสสาวะ การถ่ายปัสสาวะน้อย ขุ่นข้น มีโลหิตปน ถ่ายไม่ออก กะปริดกะปรอย ปัสสาวะขุ่นขาว มีหนอง แสดงถึงอาการที่เกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบการขับถ่ายปัสสาวะ

5. การแสดงออกจากการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาท เช่น การแสดงออกของการชักกระตุก การเป็นอัมพาต การเป็นตะคริว การเหี่ยวลีบของกล้ามเนื้อ แสดงถึงการผิดปกติในระบบประสาทต่าง ๆ ของร่างกาย

6. การแสดงออกจากการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง ขน และสิ่งปกคลุมร่างกายอื่น ๆ เช่น อาการหยาบกร้านของผิวหนัง ขนร่วง บวมน้ำใต้ผิวหนัง บาดแผล ฝีหนอง เป็นอาการที่แสดงออกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่างกายภายนอก

กรณีที่เกิดความเจ็บป่วยและการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ได้รับแก่ร่างกายต่าง ๆ กัน การควบคุมป้องกันจึงควรมีหลักในการปฏิบัติ ดังนี้

1. คัดเลือกสัตว์ที่ใช้เลี้ยงเพื่อทำพันธุ์ ควรจะต้องไม่มีโรคภัยไข้เจ็บรบกวน มีการถ่ายทอดลักษณะที่ดี มีความต้านทานในร่างกายสูงพอที่จะต่อสู้กับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้

2. การจัดการสุขาภิบาล เช่น การดูแลเลี้ยงดู การให้อาหาร โรงเรือนควรให้ถูกสุขลักษณะและเหมาะสม

3. การทำทะเบียนประวัติต่าง ๆ ทั้งทางสุขภาพและการผลิต การผสมพันธุ์

4. ตรวจสุขภาพสัตว์เป็นประจำและสม่ำเสมอ

5. การหมุนเวียนเลี้ยงสัตว์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมโรคและพยาธิรบกวน

6. คัดสัตว์ออกจากฝูงสัตว์ที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ อ่อนแอและเป็นโรค ควรคัดออกจากฝูง เพื่อลดอัตราการสูญเสียของการเป็นโรคลง

7. เพิ่มความต้านทานสัตว์ โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้ชีวผลิตภัณฑ์ การสร้างภูมิคุ้มกันโรคสม่ำเสมอ

8. ผู้เลี้ยงควรศึกษาและติดตามข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพสัตว์เป็นประจำและทั่วถึง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay