กุ้งไทยกับโปรไบโอติกฟาร์มมิ่ง

กุ้ง สัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ที่ทำรายได้เข้าประเทศถึงปีละกว่าแสนล้านบาทเนื่องจากกุ้งที่ไทยผลิตได้ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ไทยจึงต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันตลาดนำเข้าสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพยุโรป ต่างหยิบยกประเด็นของความปลอดภัยของอาหาร การรักษาสิ่งแวดล้อม มากล่าวถึงแทบทั้งสิ้น

เกี่ยวกับกรณีนี้ล่าสุดทางบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ หรือ ซีพีเอฟ ได้มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาระบบการเลี้ยงจนพบการเลี้ยงกุ้งโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ หรือที่เรียกว่า โปรไบโอติก ฟาร์มมิ่ง ซึ่งเป็นระบบการเลี้ยง ที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์กุ้งปลอดสารที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสุขอนามัย

โปรไบโอติก เป็นการใช้จุลินทรีย์หรือแบคทีเรียที่ดี มาช่วยปรับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในบ่อกุ้ง ที่มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กทั้งที่เป็นมิตร และเป็นโทษต่อกุ้งให้มีสภาพที่ดีขึ้น รวมทั้งยับยั้งเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดโรคในกุ้งกุลาดำโดยเฉพาะ เพื่อให้การป้องกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะใช้ควบคู่ไปกับการจัดการฟาร์มที่ดี ทำให้กุ้งที่เลี้ยงแข็งแรงมีอัตราการรอดสูง และสามารถสร้างภูมิต้านทานมาป้องกันตัวเองจากโรคจึงช่วยลดต้นทุนการผลิต ขณะที่ผลผลิตจะมีเพิ่มสูงขึ้นกว่าการใช้สารเคมีในการเลี้ยง

โดยในช่วงการเตรียมบ่อลงกุ้งให้ใช้ซันเทอเร็กซ์ ในขนาด 2 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อกำจัดพาหะของเชื้อไวรัสที่อาจนำโรคตัวแดงดวงขาวมายังบ่อกุ้ง จากนั้นจึงใช้โมลาส 2 ลิตรต่อไร่ต่อวัน สาดทั่วบ่อเลี้ยงติดต่อกัน 21 วันก่อนปล่อยกุ้ง พร้อมกับใช้ปุ๋ยยูเรีย 0.5 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวันติดต่อกัน 7 วัน และใช้พีเอช ฟิกเซอร์ เพื่อควบคุมค่าพีเอชของน้ำไม่ให้แกว่งมาก

พีเอช ฟิกเซอร์ พัฒนามาจากแบคทีเรียพวกบาซิลลัส มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายของเสียและอินทรีย์สารภายในบ่อเลี้ยง ทำให้กุ้งมีอาหารตามธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น และช่วยให้ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำอยู่ในสภาพคงที่ ทำให้กุ้งไม่เครียด ซึ่งจะใช้ติดต่อกัน 14 วันแรกก่อนปล่อยกุ้ง ในอัตรา 2 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน

สำหรับในระหว่างการเลี้ยงให้ใช้ซุปเปอร์ ไบโอติก ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ช่วยย่อยสลายอินทรีย์ทำให้มีสารอินทรีย์ตกค้างน้อย และยังควบคุมพื้นที่ในลำไส้ของกุ้งทำให้แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคเรืองแสงไม่สามารถยึดเกาะลำไส้กุ้งเพื่อก่อโรคได้ โดยใช้ตั้งแต่ตอนเริ่มเลี้ยง และเติมตลอดการเลี้ยงในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อไร่ต่อสัปดาห์

ตัวสุดท้ายคือ ซุปเปอร์ พีเอส จะเป็นตัวที่ช่วยสังเคราะห์แสง สามารถย่อยสลายของเสีย กำจัดขี้เลนที่พื้นบ่อทำให้พื้นบ่อไม่เหม็น อีกทั้งช่วยป้องกันโรคขี้ขาวในกุ้ง โดยใช้ในอัตรา 5 ลิตรต่อไร่ต่อสัปดาห์ ติดต่อกันทุกสัปดาห์ ในส่วนของอาหารให้ใช้ ไซมิติน หรือ ไดกากุ ในขนาด 10 กรัมผสมอาหารกุ้ง 1 กิโลกรัมทุกมื้อ เพื่อเป็นสารเสริมด้านโปรไบโอติก เพื่อให้สุขภาพกุ้งดีขึ้นและเป็นการป้องกันการติดเชื้อวิบริโอในลำไส้กุ้ง

การเลี้ยงกุ้งด้วยโปรไบโอติกฟาร์มมิ่งดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ด้วยการใช้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ไม่เป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถช่วยทดแทนการใช้สารเคมีที่นับวันจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งออก ขณะเดียวกันยังช่วยกระตุ้นให้กุ้งสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดียิ่งขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี การจัดการฟาร์ม เพื่อป้องกันพาหะนำโรคสู่บ่อกุ้งยังเป็นสิ่งจำเป็น เช่นแนวรั้วกันปู หรือแนวตาข่ายกันนก เป็นต้น 

อุตสาหกรรมกุ้งไทยนับจากนี้ จะสามารถผลิตกุ้งให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย ส่งออกไปแข่งขันในตลาดโลก ทำรายได้เข้าประเทศได้มากกว่าปีละแสนล้านบาท ประเทศไทยก็สามารถรักษาความเป็นผู้นำในการผลิต และส่งออกกุ้งของโลก ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ก็สามารถมีอาชีพเลี้ยงกุ้งที่มั่นคงอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay