การเลี้ยงลูกกุ้งก้ามกรามในบ่อคลุมพลาสติก

ในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามนั้น ช่วงฤดูหนาวมักมีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตและอัตรารอดชีวิต โดยเฉพาะลูกกุ้งวัยอ่อน เนื่องจากน้ำในบ่อเลี้ยงมีอุณหภูมิต่ำ ทำให้กุ้งไม่ค่อยกินอาหาร

ด้วยเหตุนี้ อ.นิวุฒิ หวังชัย อ.เทพรัตน์ อึ้งเศรษฐพันธ์ อ.ชนกันต์ จิตมนัส อ.ประจวบ ฉายบุ เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน และ อ.สุภัทรา อุไรวรรณ์ แห่งภาควิชาเทคโนโลยีการประมง คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกันศึกษาวิจัยการอนุบาลลูกกุ้งก้ามกรามให้ได้ขนาด 4-5 กรัม ช่วงฤดูหนาวในบ่อดินที่คลุมพลาสติก เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต อัตราการรอดของกุ้งก้ามกรามที่อนุบาลในฤดูหนาว

การทดลองใช้เวลา 75 วัน ในบ่อดิน ขนาด 100 ตารางเมตร อัตราการปล่อย 100 ตัว ต่อตารางเมตร โดยใช้บ่อควบคุมอุณหภูมิเปรียบเทียบกับบ่อที่ไม่คลุมด้วยพลาสติก

ผลการทดลองปรากฏว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในบ่อที่คลุมพลาสติกสูงกว่าบ่อที่ไม่คลุมพลาสติก และพบว่าที่จุดต่ำสุดของอุณหภูมิในบ่อที่ไม่คลุมและคลุมพลาสติก ต่างกัน 5 องศาเซลเซียส (18 องศาเซลเซียส ในบ่อที่ไม่คลุมพลาสติก และ 23 องศาเซลเซียส ในบ่อที่คลุมพลาสติก เซลเซียสตามลำดับ มีต่ำสุดตามระดับอุณหภูมิ (ต่ำสุด-สูงสุด) เฉลี่ยตลอดการทดลองในบ่อที่ไม่คลุมและคลุมพลาสติกใส คือ 23.8-27.4 และ 27.7-30.3 องศาเซลเซียส ตามลำดับ 

ส่วนอัตราการรอดตายของลูกกุ้งก้ามกรามที่อนุบาลในบ่อที่ไม่คลุมและคลุมพลาสติกไม่มีความแตกต่างทางสถิติ 

อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญเติบโต และอัตราการแลกเนื้อของกุ้งก้ามกรามในบ่อที่ไม่คลุมและคลุมพลาสติกต่างกัน โดยอัตราการเจริญเติบโตของลูกกุ้งก้ามกรามในบ่อที่ไม่คลุมและคลุมพลาสติก คือ 0.037, 0.002 และ 0.062, 0.002 กรัม ต่อวัน ตามลำดับ 

ส่วนอัตราการแลกเนื้อ คือ 4.8, 0.1 และ 2.3, 0.4 ตามลำดับ เมื่อสิ้นสุดการทดลองน้ำหนักของลูกกุ้งก้ามกรามในบ่อที่ไม่คลุมและคลุมพลาสติก คือ 2.70, 1.0 และ 5.42, 0.11 กรัม ตามลำดับ ดังนั้น การใช้พลาสติกคลุมเพื่อรักษาอุณหภูมิในบ่ออนุบาลมีผลดีต่อการเจริญเติบโตของลูกกุ้งก้ามกรามที่อนุบาลในฤดูหนาว 

"การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในภาคเหนือยังมีน้อย สาเหตุมาจากอุณหภูมิต่ำในฤดูหนาว ต้องเลี้ยงนาน 8-9 เดือน และผลผลิตค่อนข้างต่ำประมาณ 250-300 กิโลกรัม ต่อไร่ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการขนส่งลูกกุ้งไกลมากทำให้กุ้งอ่อนแอและอัตราการรอดต่ำ ดังนั้น การผลิตลูกกุ้งก้ามกรามในฤดูหนาวได้ขนาด 4-5 กรัม เพื่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงเป็นกุ้งขนาดใหญ่จึงมีความจำเป็นอย่างมาก การใช้พลาสติกคลุมบ่อเพื่อรักษาและควบคุมอุณหภูมิน้ำในบ่อเพื่อแก้ปัญหาอุณหภูมิของน้ำต่ำในช่วงฤดูหนาว เป็นวิธีการหนึ่งที่น่าสนใจและมีแนวทางที่จะผลิตลูกกุ้งก้ามกรามขนาด 4-5 กรัม ในฤดูหนาวได้" อ.นิวุฒิ กล่าว

เขาบอกว่า ลูกกุ้งก้ามกรามในขนาดดังกล่าวเมื่อนำไปเลี้ยงต่อจะใช้ระยะเวลาเพียง 5-6 เดือน เท่านั้น ก็ได้กุ้งที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นการย่นระยะเวลาเลี้ยงจากเดิมถึง 3-4 เดือน อีกทั้งสามารถเลี้ยงหรือจำหน่ายผลิตในฤดูหนาวได้ด้วย

ผลผลิตที่ได้รับก็สูงขึ้น 400 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่หากเป็นวิธีการเดิมได้เพียง 250-300 กิโลกรัม ต่อไร่ เท่านั้น

"วิธีนี้ยังลดความเสียหายหรือเพิ่มอัตราการรอดของกุ้งได้มาก เนื่องจากใช้กุ้งขนาดโต 4-5 กรัม ซึ่งจากเดิมเกษตรกรลงกุ้งขนาด P 12 และมีอัตราการรอดที่ต่ำและไม่แน่นอน เพราะลูกกุ้ง P 12 ต้องขนส่งไกล เช่น จากสุพรรณบุรีไปเชียงราย ลูกกุ้งอ่อนแอไม่มีความแข็งแรง" 

อ.นิวุฒิ กล่าวว่า ในการทดลองดังกล่าวเราจะมีการจัดการบ่อเลี้ยง ด้วยการทำความสะอาด ตากบ่อและลงปูนขาว และเตรียมน้ำโดยการกรองด้วยอวนตาถี่ พร้อมกับติดตั้งเครื่องเพิ่มอากาศ 

ส่วนการดูแลนั้นจะเปลี่ยนถ่ายน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และให้อาหารวันละ 3 มื้อ เวลาเช้ามืด บ่าย และตอนเย็น

สำหรับอัตราการให้อาหารลูกกุ้งก้ามกรามนั้น มีดังนี้
อายุ(% อาหารที่ให้/วัน/น้ำหนักตัว)
0-15 (20)
16-30 (15)
31-45 (10)
46-75 (5)

ทดลองเลี้ยง 75 วัน ก็ได้ผลผลิตลูกกุ้งก้ามกราม 4-5 กรัม ต่อตัว แถมยังแข็งแรงอีกด้วย

งานวิจัยนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามช่วงฤดูหนาวในภาคเหนือ เพื่อผลิตหรือเลี้ยงกุ้งได้ตลอดทั้งปี ซึ่งมีประโยชน์ทั้งเกษตรกรผู้ยึดอาชีพนี้และผู้บริโภคด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay