คำถามคำตอบเกี่ยวกับองุ่น

Q: ทดลองปลูกองุ่นไว้หลายต้น แต่ต้นองุ่นกลับไม่งาม เพราะมีโรครบกวน ระยะแรกมีจุดสีเหลืองเกิดขึ้นที่ใบอ่อน ต่อมาลุกลามมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีเส้นใยสีขาวอยู่ตามรอยแผล ต้นองุ่นจะไม่เจริญเติบโต โรคชนิดนี้เป็นชนิดที่ทำให้ผลองุ่นเป็นจุดสีเทา หากเป็นมากแผลจะยุบลง และมีน้ำเยิ้มเสียหายใช่หรือไม่ รบกวนช่วยกรุณาอธิบายให้ทราบด้วย พร้อมกับวิธีป้องกันและรักษาควรปฏิบัติอย่างไร

A: อาการของโรคที่เล่ามานั้น เกิดจากโรค 2 ชนิด

ชนิดแรก เกิดจากการเข้าทำลายจากเชื้อราชนิดหนึ่ง เรียกว่า โรคราน้ำค้าง ซึ่งเกษตรกรเรียกว่า โรคราขาว ลักษณะการเข้าทำลายจะเข้าทำลายที่บริเวณยอดอ่อนและใบอ่อนของต้นองุ่น อาการเริ่มแรกที่ปรากฏคือ พบจุดสีเหลืองขนาดเล็กและขยายใหญ่ขึ้นในเวลาต่อมา บางกรณีขนาดของแผลที่ขยายใหญ่ขึ้นอาจเชื่อมติดกันมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น และจะแห้งกรอบ ร่วงหล่นจากต้น หรือหากอากาศมีความชื้นสูงมักมองเห็นเส้นใยของเชื้อราสีขาวปกคลุมบริเวณบาดแผล การทำลายที่ผลอ่อน จะทำให้เกิดรอยแผล มีขุยสีขาวปกคลุม ทำให้ผิวขององุ่นกร้านและมีรอยย่น เมื่อเกิดอาการรุนแรงผลจะร่วงหล่นเกือบทั้งต้น 

วิธีป้องกันกำจัด เนื่องจากโรคราน้ำค้างจะเข้าทำลายเฉพาะยอดใบและผลอ่อน จึงต้องเริ่มควบคุมการระบาดของโรคในระยะที่ต้นองุ่นแตกยอด ใบ และผลอ่อน โดยใช้แมนโคเซป 80 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยู พี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่ว 2 ครั้ง ทุกๆ วัน ส่วนอาการของผลองุ่นเป็นจุดสีเทา ต่อมายุบตัวลง การเข้าทำลายเกิดจากเชื้อราอีกชนิดทำให้เกิดโรคแอนแทรกโนส หรืออีบุบ มักเกิดรุนแรงในช่วงที่ฝนตกชุก มีความชื้นในบรรยากาศสูง อีบุบเกิดได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ อาการเริ่มแรกเกิดจุดขนาดเล็กที่ผลองุ่น ศูนย์กลางของแผลจะยุบลงจากระดับผิวเล็กน้อย ต่อมารอยแผลขยายใหญ่ขึ้นพร้อมกับมีเมือกสีชมพู เมื่อใช้มือบีบน้ำเมือกดังกล่าวจะเยิ้มออกมา อาการที่รุนแรงอาจทำให้ผลแตกได้ ผลที่ไม่ร่วงหล่นจะแห้งเหี่ยวติดอยู่กับก้านช่อผล ส่วนแอนแทรกโนสที่เกิดขึ้นกับใบอ่อนหรือยอดอ่อนพบจะมีจุดสีดำบริเวณขอบแผลสีดำ และริมขอบแผลด้านนอกสีจางกว่าอาการรุนแรง เนื้อใบอาจทะลุและหงิกงอ การเจริญเติบโตของใบชะงักลง ยอดแคระแกร็นและแห้งตาย 

การป้องกันกำจัด ควรตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลมพัดผ่านได้ และฉีดพ่นด้วยคอปเปอร์ไฮดอกไซด์ 61.1 ดับเบิ้ลยู จี อัตรา 15 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือเบนโนมิล 50 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 6 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่ว 2-3 ครั้ง ทุกสัปดาห์ นอกจากนี้แล้ว ยังมีโรคระบาดสำคัญขององุ่นอีกหลายชนิด ดังนี้ 

โรคเถาแห้งและผลเน่า โรคชนิดนี้พบเข้าทำลายรุนแรงกับพันธุ์ไวท์มะละกา ที่ปลูกกันมากในแถบจังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม การทำลายของเชื้อโรคที่เกิดจากเชื้อราอีกชนิดหนึ่ง โรคเถาแห้งและผลเน่าเกิดกับต้นองุ่นได้ทุกระยะ ตั้งแต่ใบอ่อนยอดอ่อนไปจนถึงผลแก่ อาการของการเข้าทำลายที่ยอดอ่อน จะทำให้ยอดอ่อนเหี่ยวเฉาเมื่อแสงแดดจัดและแห้งตายในที่สุด การเข้าทำลายที่กิ่งอ่อนเริ่มปรากฏรอยแผลสีน้ำตาล ต่อมาแผลขยายพื้นที่ไปทั้งโคนกิ่งและปลายกิ่ง ทำให้กิ่งแห้งบางแห่ง มีผลทำให้กิ่งอ่อนหักพับลง การเข้าทำลายในผลแก่ระยะก่อนเก็บเกี่ยวจะทำให้ผลเน่าและร่วงทั้งช่อ 

วิธีป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยคาร์เบนดาซิม 50 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี หรือเบโนมิล 50 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 2 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ทาที่บริเวณรอยแผล ที่ถากหรือขูดเปลือกออก 3 ครั้ง ทุกเดือน และใช้สารเคมีชนิดเดียวกัน อัตรา 6 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นยอดและใบอ่อน 2-3 ครั้ง ทุกสัปดาห์ และโรคราสนิม แม้เป็นโรคที่ระบาดไม่รุนแรง เมื่อเปรียบเทียบกับการเกิดโรคอื่นๆ ข้างต้น แต่ก็มีผลทำให้ผลผลิตลดลง โรคราสนิมมักเกิดในระยะที่ใบองุ่นอยู่ในวัยที่เรียกว่า เพสลาด (ออกเสียงว่า เพ-สะ-หลาด) พบระบาดทั่วไปในแหล่งปลูกองุ่นบริเวณภาคกลาง อาการของโรค จะปรากฏเป็นจุดสีเหลืองหลังใบ สีเหลืองนูนและใสขนาดเล็ก ต่อมาขยายขนาดขึ้นและจุดเหลืองจะแตกสปอร์ของเชื้อราจะปลิวกระจายไปกับลม และแพร่ระบาดไปยังแหล่งปลูกองุ่นที่อยู่ใกล้เคียง การระบาดรุนแรงจะทำให้ใบแห้งกรอบและร่วงหล่นในที่สุด ผลจากใบถูกทำลายมีผลต่อระบบการสังเคราะห์แสงของต้นองุ่น อัตราและความสามารถการสังเคราะห์แสงลดลง การผลิตแป้งและน้ำตาลจากใบเพื่อส่งไปยังผลย่อมลดลงตามไปด้วย ท้ายที่สุดผลผลิตและคุณภาพของผลผลิตย่อมต่ำลงอย่างแน่นอน 

วิธีป้องกันกำจัด เมื่อพบการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยไตรอะดิมีฟอน 25 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยู พี อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ หรือ แมนโคเซ็ป 80 เปอร์เซ็นต์ ดับเบิ้ลยู พี อัตรา 30-40 กรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นให้ทั่ว 2 ครั้ง ทุก 2 สัปดาห์ เมื่อพบว่าการระบาดของโรคหมดไป ให้เลิกใช้สารเคมีทันที และให้เก็บผลผลิตก่อนนำมาบริโภคหลังฉีดพ่นสารเคมีแล้วอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์

--------------------

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay