คำถามคำตอบเกี่ยวกับมะม่วง
Q: มีปัญหาเรื่องผลมะม่วงไม่โตผลผลิดไม่มาก อยากทราบว่าจะใช้ปุ๋ยหรือยาอะไรดี
A: การใส่ปุ๋ยเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้ผลไม้โตได้ มีเหตุผลมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของผล แต่จะขอนำมาอธิบายที่นี้ 3 เรื่อง คือ(1.) อาหารภายในต้นมะม่วงไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงผล อาจเกิดจาก - ต้นมะม่วงไม่สมบูรณ์ ไม่มีการดูแลตัดแต่งกิ่ง-ดูแลใบอ่อนที่ดีในช่วงก่อนออกดอกติดผล (การที่ไม่ตัดแต่งกิ่ง ทำให้มีทรงพุ่มแน่นทึบ ใบที่ไม่โดนแดด ก็ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ กลายเป็นตัวถ่วง เพราะใบเหล่านี้ดึงอาหารจากการสังเคราะห์แสงของใบที่โดนแดดมาใช้ เพื่อการมีชีวิตของตนเอง จึงทำให้มีอาหารไปเหลือสะสมไว้ในต้นน้อย หรือพูดง่ายๆคือ ใบที่ไม่โดนแดดเปรียบเสมือน กาฝาก ) (การที่ไม่ดูแลใบอ่อนให้ดี ทำให้ต้นไม้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจาก ในการแตกใบอ่อนแต่ละครั้ง ต้นไม้ต้องเสียอาหารที่สะสมในต้นมาเพื่อการเจริญของใบอ่อน แต่แทนที่ใบอ่อนจะมีโอกาสเจริญเติบโตและทำหน้าที่สังเคราะห์แสงให้อาหารสะสมกลับคืนสู่ต้น ใบอ่อนเหล่านั้นกลับถูกแมลงกัดกิน แสดงว่าอาหารที่อยู่ในต้น ถูกใช้ไปโดยไม่มีประโยชน์กลับคืนมา) - การไว้ผลมากเกินไป ทำให้อาหารที่มีอยู่ต้องเฉลี่ยไปเลี้ยงผลจำนวนมาก ผลก็ไม่โต - การที่ติดผลน้อย หรือติดเพียงบางยอด และในระหว่างที่ผลกำลังจะขยายขนาดเกิดมีการแตกใบอ่อนบนยอดที่ไม่ติดผล อาหารที่สะสมอยู่ในต้นจะถูกดูดดึงไปใช้เลี้ยงใบอ่อนมากกว่าเลี้ยงผล ผลจึงไม่โต
(2) น้ำ ตลอดช่วงของการติดผล มะม่วง ต้องการน้ำในปริมาณที่เเพียงพอและสม่ำเสมอจนกระทั่งผลมะม่วงเริ่มแก่ (เข้าไคล)จึงค่อยลดปริมาณน้ำลง ถ้ามะม่วงได้รับน้ำไม่เพียงพอ ผลจะไม่ค่อยโต โดยเฉพาะในช่วงประมาณ 1 เดือน หลังติดผล ที่ผลมะม่วงมีการขยายขนาดอย่างรวดเร็ว
(3) การใส่ปุ๋ยในระยะติดผล ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ในระยะผลอ่อน หลังติดผลประมาณ 1 เดือน แนะนำให้ใส่ปุ๋ย อัตรา 1:1:1 เช่น สูตร 15-15-15 ,16-16-16 ปริมาณ เป็นกิโลกรัมต่อต้น เท่ากับ 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของผล และก่อนที่จะเข้าไคล หรือผลมะม่วงมีอายุประมาณ 2 เดือนครึ่ง ควรใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 0-0-50 อัตรา 1 - 2 กิโลกรัม/ต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพเนื้อ
--------------------
Q: มะม่วงติดผลใหม่ ๆ แล้วร่วงมากผิดปกติเพราะอะไร
A: สาเหตุของการที่มะม่วงติดผลแล้วร่วงมีดังต่อไปนี้1. ผลกะเทยที่ไม่ได้รับการผสมส่วนใหญ่จะมีลักษณะโค้งงอ อกเหลือง
2. ความสมบูรณ์ของต้นก่อนออกดอกยังไม่เพียงพอทำให้มะม่วงสลัดผลทิ้ง
3. มีฝนตกหนักหลังติดผลแล้วทำให้มะม่วงสลัดผลทิ้ง
4. โรคและแมลงเข้าทำลาย
--------------------
Q: สอบถามเทคนิคในการห่อผลมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออก
A: มะม่วงน้ำดอกไม้ที่จะส่งออกนั้นจะต้องมีการห่อผลทุกผลก่อนที่จะนำมาคัดเลือกเพื่อการส่งออก โดยระยะที่เหมาะต่อการห่อผลมากที่สุดคือขนาดผลใหญ่กว่าไข่ไก่เล็กน้อย หรือขนาดผลมีความสูงประมาณ 2 นิ้ว (ก่อนถึงระยะห่อผลมะม่วง จะพบการสลัดร่วงของผลเองในธรรมชาติ จะเหลือเฉลี่ยเพียงผลเดียวที่สวยที่สุด) ในอดีตวัสดุที่ใช้ห่อจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันการใช้กระดาษคาร์บอนดำห่อผลจะดีที่สุด ซึ่งใช้ห่อได้ทั้งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองและน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 ผลที่ได้จากการห่อกระดาษคาร์บอนผิวมะม่วงจะมีสีเหลืองทองสวยงามมาก การห่อนอกจากจะทำให้ผลมะม่วงสวยแล้ว ยังช่วยป้องกันแมลงทำลายและสารเคมีที่ฉีดพ่นไม่ถูกกับผลมะม่วงโดยตรง--------------------
Q: ปลูกมะม่วงไว้ในสวนใกล้บ้าน ขณะเก็บผลพบว่าเป็นปกติดี แต่เมื่อนำไปบ่ม จะมีรอยช้ำเป็นจุดๆ ต่อมาเกิดการเน่าเสียหายเกือบทั้งหมด อาการที่พบเกิดจากอะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไร
A: ผลมะม่วงเน่าเมื่อนำไปบ่ม เกิดจากเชื้อราสาเหตุชนิดที่ก่อให้เกิด โรคแอนแทรกโนส โรคชนิดนี้เข้าทำลายมะม่วงได้ตั้งแต่ระยะกล้า แต่ในกรณีที่ทำให้ผลเน่าเมื่อนำไปบ่ม เกิดการเข้าทำลายในระยะติดผล เนื่องจากระยะติดผลอ่อนเป็นระยะที่อ่อนแอที่สุด ทำให้ผลเป็นจุดเน่าดำ แต่หากเกิดในช่วงอากาศแห้ง เชื้อราจะพักตัวอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวผลมะม่วง ต่อมาเมื่อมีฝนตกชุก อากาศชื้น เชื้อจะเพิ่มจำนวนทำให้เกิดเป็นจุดดำกระจายทั่วผล พันธุ์ที่อ่อนแอจุดจะขยายรูปร่างรอยแผล มีลักษณะคล้ายหยาดน้ำตาจากขั้วผลลงไปยังปลายผล ในทางตรงกันข้ามพันธุ์ที่ต้านทานจะไม่แสดงอาการดังกล่าว หรือในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมก็ไม่แสดงอาการเช่นเดียวกัน แต่จะไปแสดงอาการเมื่อนำไปบ่ม รอยแผลจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นแอ่งบุ๋ม บริเวณตอนกลางรอยแผลจะมีเมือกสีส้มหรือสีชมพู ต่อมาผลจะเน่ามีกลิ่นหมัก พันธุ์น้ำดอกไม้ แรด และอกร่อง เป็นพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคแอนแทรกโนส การแพร่ระบาด เกิดจากเชื้อราผลิตสปอร์ที่มีขนาดเล็กมาก ทำหน้าที่เป็นเซลล์ขยายพันธุ์ เมื่อสุกแก่เต็มที่ลมจะพัดพาสปอร์จากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นใกล้เคียงและระบาดได้เร็วขึ้น ขณะที่บรรยากาศมีความชื้นสูงวิธีป้องกันกำจัด ควรตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง ในสวนที่เคยเกิดการระบาดรุนแรงจนทำให้ผลเน่าเสียเมื่อนำไปบ่ม ให้ฉีดพ่นด้วยเบโนมิล สลับกับคาร์เบนดาซิม ในระยะที่มะม่วงแทงช่อดอกหรือติดผลอ่อน ตามอัตราแนะนำข้างฉลาก ไปถึงระยะก่อนการเก็บเกี่ยวผล รวม 4-7 ครั้ง หากต้องการควบคุมให้ได้ผลมากยิ่งขึ้นให้จุ่มผลมะม่วงลงในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 นาที แล้วนำขึ้นผึ่งให้สะเด็ดน้ำ ก่อนนำไปบ่ม หากปฏิบัติตามคำแนะนำ อาการผลเน่าเมื่อนำไปบ่มจะหมดไปในที่สุด
--------------------
Q: ปลูกมะม่วงไว้ในสวนหลายต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงมะม่วงแทงช่อ พบว่าคราบเขม่า หรือผงฝุ่นสีดำจับตามผิวใบ กิ่ง ช่อดอก ก้านช่อดอก และผลอ่อน ทำให้ผลร่วงหรือไม่ติดผล จะแก้ไขอย่างไร นอกจากนี้ ยังพบที่ใบอ่อนเป็นจุดฉ่ำน้ำสีเหลืองอ่อน ต่อมาขยายใหญ่ขึ้นเป็นจุดสีน้ำตาล ในช่วงมีอากาศชื้น ทำให้กลางแผลเปื่อยหลุดลุ่ยเป็นรูพรุน เกิดจากอะไร และจะแก้ไขอย่างไร
A: คราบเขม่าหรือผงฝุ่นสีดำจับตามผิวใบ กิ่ง ช่อดอก และผลอ่อน เรียกว่า โรคราดำ เกิดจากเชื้อสีดำที่มีอยู่ทั่วไปรวมทั้งสปอร์หรือส่วนขยายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กปลิวอยู่ในอากาศ เมื่อได้น้ำหวานที่เกิดจากเพลี้ยจักจั่น ดูดกินน้ำเลี้ยงที่ช่อมะม่วง แล้วขับถ่ายออกมาเป็นละอองไปตกอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของมะม่วงที่กล่าวแล้ว เชื้อราจะใช้น้ำหวานเป็นอาหารและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้มะม่วงไม่ติดผล การระบาดจะรุนแรง ในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น วิธีป้องกันกำจัด เมื่อพบการเข้าทำลายไม่รุนแรงให้ฉีดน้ำเป็นละอองล้างคราบน้ำหวานออกจากส่วนต่าง ๆ ที่พบเป็นคราบ หากเกิดการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยคาร์บาริล อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำหนึ่งปี๊บ กำจัดเพลี้ยจักจั่น ในระยะมะม่วงแทงช่อดอกส่วนอาการของใบอ่อนเป็นจุดสีน้ำตาลต่อมาเน่าเปื่อยและทะลุเป็นรูพรุน เรียกว่า โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง เชื้อราชนิดนี้นอกจากเข้าทำลายต้นมะม่วงแล้วยังเข้าทำลายพืชได้อีกหลายชนิด การระบาดจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่มีความชื้นสูง การแพร่ระบาดของโรคสามารถปลิวไปตามลม วิธีป้องกันกำจัด กรณีที่ระบาดไม่รุนแรงให้ตัดกิ่งและยอดเผาทำลายทิ้งป้องกันการสะสมโรค หากเกิดการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยไดเทนเอ็ม 45 เอซินแม็ก หรือเบลเลท ตามอัตราแนะนำที่ฉลาก ระยะที่มะม่วงแตกใบอ่อน 2 ครั้ง ห่างกัน 2 สัปดาห์ การระบาดของโรคแอนแทรกโนสจะหมดไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม หลังเก็บผลผลิตมะม่วงแล้วต้องตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค หรือกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออกเผาทำลาย ให้ทรงพุ่มโปร่งลมพัดผ่านได้ดีแสงแดดส่องถึง พร้อมกับบำรุงต้นให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ จะเป็นการช่วยลดการระบาดของโรคลงได้
--------------------
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง