เห็ดหอม (Shitake)

เห็ดหอมหรือที่ภาษาสากลเรียกว่า Shitake ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่นหมายถึงเชื้อราที่ขึ้นบนไม้โอ๊ค เนื่องจากเห็ดหอมมีอยู่ในธรรมชาติของประเทศญี่ปุ่นมากมาย จนทำให้ชาวญี่ปุ่นให้ความสนใจ และทำการศึกษาในเรื่องเห็ดหอมกันอย่างกว้างขวาง จนในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นจัดเป็นประเทศที่ส่งออกเห็ดหอมมากที่สุดในโลกก็ว่าได้

เห็ดหอมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lentinus edodes เป็นเห็ดที่ชอบขึ้นในที่อากาศหนาวและความชื้นสูง โดยมักขึ้นในไม้ตระกูลไม้โอ๊ค เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นไม้ตระกูลเดียวกับไม้ก่อในประเทศไทย จัดเป็นพวกไม้เนื้อค่อนข้างแข็ง ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการออกดอกเห็ดขึ้นอยู่กับพันธุ์เห็ด ต้องการอุณหภูมิในระหว่างการเจริญของเส้นใยไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ใช้เวลาในการพักหรือเจริญของเส้นใยเต็มที่ประมาณ 6 เดือนถึงหนึ่งปีครึ่ง ทั้งนี้ขึ้นกับสภาพแวดล้อมหรือพันธุ์เห็ด เป็นเห็ดที่มีความสามารถในการย่อยเซลลูโลสและลิกนินได้ดี

ลักษณะของดอกเห็ด

ประกอบด้วยส่วนที่เป็นหมวก ซึ่งอยู่ปลายสุดของดอกที่เจริญเติบโตขึ้นไปในอากาศ ผิวด้านบนของดอกเห็ดจะมีสีน้ำตาล น้ำตาลปนแดง หรือสีขาว ทั้งนี้แล้วแต่พันธุ์เห็ด มีขนรวมกันเป็นเกล็ดหยาบๆสีขาว หรือสีเดียวกับหมวกเห็ดปกคลุมอยู่ทั่วไป หรือในบางพันธุ์เห็ดจะไม่มีเลย ขนเหล่านี้เมื่อถูกอากาศจะค่อยๆแห้งหายไป เมื่อดอกบานเต็มที่หมวกเห็ดจะกางออกตรงกลางจะเว้าลงเล็กน้อย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร ทั้งนี้แล้วแต่ความสมบูรณ์ของดอกเห็ด

ด้านล่างของหมวกเห็ดมีครีบสีขาวเรียงเป็นรัศมีรอบๆโคนก้านดอก ซึ่งอาจจะอยู่กึ่งกลางดอก สองข้างของครีบนี้เป็นที่เกิดของสปอร์เห็ด

ก้านดอกมีสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อน เมื่อถูกกับอากาศจะมีสีเขียวเข้มขึ้น ก้านดอกมีขนาดกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และจะค่อยๆเรียวยาวขึ้นเมื่อเจริญเต็มที่ โดยจะเจริญออกมาจากขอนไม้ มีเนื้อละเอียดแน่น เหนียวกว่าเห็ดฟาง

พันธุ์เห็ดหอม

พันธุ์เห็ดหอมที่นิยมสำหรับทำเห็ดแห้งนั้น เป็นพันธุ์ที่ต้องการอุณหภูมิต่ำในการออกดอก ส่วนในช่วงที่มีอากาศอบอุ่น หรือช่วงฤดูร้อนในประเทศญี่ปุ่นสำหรับรับประทานสด เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ทนอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี ในประเทศญี่ปุ่นแบ่งเห็ดหอมออกเป็น 5 สายพันธุ์ ตามลักษณะและคุณภาพดังนี้
1. Hana Donko เป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุด มีเนื้อหนา ดอกใหญ่ หมวกรูปร่างกลม ขอบหมวกไม่บานออก มีการเพาะจำกัด เนื่องจากต้องการอุณหภูมิต่ำมาก
2. Donko มีลักษณะเหมือนกับ Hana Donko แต่ขนาดหมวกเล็กกว่า เป็นพันธุ์ที่ผลิตเป็นเห็ดแห้งส่งไปขายต่างประเทศ และเป็นพันธุ์ที่ชาวจีนนิยมบริโภค ต้องการอากาศค่อนข้างเย็น พันธุ์นี้ยังแบ่งออกเป็น 2 เกรดคือ
- Jo Donko  เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพดี
- Nami Donko เป็นเห็ดหอมเกรดมาตรฐานคุณภาพรองจาก Jo Donko
3. Kotsubu Donko ลักษณะเหมือนกับ Donko ทุกประการ แต่ขนาดของหมวกเห็ดเล็กกว่า
4. Koshin เป็นเห็ดหอมที่มีเนื้อหมวกบาง ขอบหมวกจะบานออกทั้งหมดราคาถูกกว่า 3 ชนิดแรก ใช้บริโภคในรูปเห็ดสดและแห้ง
5. Koko มีลักษณะคล้าย Koshin แต่มีรสชาดคล้าย Donko

วิธีการเพาะเห็ดหอม

1. การทำหัวเชื้อ
ควรใช้วัสดุใกล้เคียงกับที่จะใช้เพาะ ทั้งนี้เพื่อการปรับตัวของเส้นใย จะได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจากไม่มีความแตกต่างของอาหารที่จะใช้ทำหัวเชื้อกับที่ที่จะใช้เพาะ สูตรอาหารที่นิยมกันทั่วไปได้แก่ ขี้เลื่อยผสมรำละเอียด 3-5% ผสมกับน้ำคลุกให้ทั่ว พอให้ส่วนผสมจับตัวกันเมื่อใช้มือบีบดู แล้วนำไปบรรจุในภาชนะอาจจะเป็นถุงพลาสติกทนร้อนหรือขวดแก้วที่มีฝาทนความดันและความร้อนได้ นำไปนึ่งฆ่าเชื้อโดยใช้ความดันประมาณ 20 ปอนด์ต่อตารางนิ้วนาน 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมง จากนั้นตั้งทิ้งไว้ให้เย็น นำเอาเชื้อเห็ดที่เลี้ยงไว้ในอาหารวุ้น (ดูจากเรื่องการแยกเชื้อเห็ดในตอนต่อไป) ใส่ลงไป เก็บไว้ที่อุณหภูมิประมาณ 24-25 องศาเซลเซียสประมาณ หนึ่งเดือนครึ่งถึง 2 เดือนเชื้อเห็ดจะมีอายุพอดีที่จะนำไปใช้เพาะ

2. การเพาะบนไม้
2.1 ใช้ไม้ขนาดยาวประมาณ 40 -100 ซม. นำมาเจาะรูด้วยสว่านขนาด 5 หุน โดยแต่ละแถวเจาะให้สับหว่างกัน
2.2 ใส่เชื้อเห็ดที่เตรียมไว้ลงไปในรูที่เจาะกดให้แน่น ปิดด้วยฝาขนาด 6 หุนใช้ค่อยย้ำเบาๆแล้วยาปากรูด้วยขี้ผึ้ง
2.3 นำเส้นใยไปบ่มไว้ อย่าให้โดนแดดโดยตรงและลมโกรกมาก ไม่ต้องให้น้ำ แต่ถ้าสังเกตว่าท่อนไม้แห้งมากก็ให้น้ำเล็กน้อย
2.4 ประมาณ 6-8 เดือนหลังจากพักไม้ไว้แล้ว นำท่อนไม้ไปแช่น้ำเย็นที่มีอุณหภูมิประมาณ 10-12 องศาเซลเซียสเพื่อกระตุ้นเส้นใย แช่ไว้ประมาณ 48 ชั่วโมง หรือให้ท่อนไม้จมน้ำ
2.5 นำท่อนไม้ขึ้นจากน้ำ นำมาเรียงไว้โดยตั้งท่อนไม้ขึ้น เว้นระยะห่างพอสมควร ในระยะแรกไม่จำเป็นต้องให้น้ำ จนกว่าเห็ดรุ่นแรกจะออกดอก
2.6 หลังจากเก็บดอกรุ่นแรกแล้ว ทำการให้น้ำให้ทั่วท่อนไม้ทุกวันอย่าให้ท่อนไม้แห้ง จะสามารถเก็บผลผลิตได้เรื่อยๆจนกว่าอุณหภูมิจะเริ่มสูงและความชื้นลดลง สำหรับบ้านเราจะเก็บผลผลิตประมาณ กันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเห็นผลผลิตลดลงแล้วให้นำท่อนไม้ไปพักไว้ทำเช่นเดียวกับข้อ 2.3 หลังจากเก็บผลผลิตในปีแรกและปีที่ 2 แล้ว เปลือกไม้มักจะค่อยๆหลุดออกให้ทำการแกะเปลือกออกให้หมด แล้วปฏิบัติขั้นตอนต่อไปเช่นเดิม จนกว่าท่อนไม้จะผุและเห็ดไม่ให้ผลผลิต ในไม้ก่อจะสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 3 - 5  ปีต่อการเพาะหนึ่งครั้ง

ปัญหาที่พบในแปลงเพาะเห็ดหอม

ได้แก่พวกเห็ดขอน เห็ดหูหนูธรรมชาติ ถ้าความชื้นในแปลงเพาะ หรือในระหว่างพักไม้สูงเกินไป จะพบพวกราเมือก ราเขียวเกาะท่อนไม้มาก นอกจากนี้จะพบพวกมดและปลวกคอยกัดกินเชื้อเห็ดและท่อนไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay