การเพาะเห็ด 4/4 : การทำเชื้อเห็ดฟาง
วัตถุประสงค์ในการทำเชื้อเห็ดเพื่อเพิ่มจำนวนเส้นใยให้มากขึ้น บนวัสดุที่คล้ายคลึงกับวัสดุที่ใช้เพาะ การใช้วัสดุดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นใยพักตัว วัสดุทุกชนิดที่จะนำมาทำเชื้อเห็ดควรเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย และผ่านการหมักมาแล้ว
การหมักเริ่มต้นด้วยการนำวัสดุมากองให้แน่น มีความสูงไม่เกิน 70 ซม. สถานที่กองควรเป็นที่ร่มลมโกรก มีอากาศถ่ายเทสะดวกและความชื้นสูง หลังจากนั้นทุกๆ 2-3 วัน กลับกองให้เอาส่วนที่อยู่ตรงกลางกลับออกมาด้านนอก ระยะเวลาในการหมักแตกต่างกันแล้วแต่วัสดุที่ใช้เช่น ฟาง ไส้นุ่น ต้นยาสูบ ต้นกล้วย หรือผักตบชวาใช้เวลา 7-12 วัน ชานอ้อยผสมมูลม้า 8-21 วัน มูลม้า มูลวัวผสมเปลือกบัว ไส้นุ่น หรือฟางใช้เวลา 15-21 วันเป็นต้น
วิธีสังเกตว่าวัสดุหมักใช้ได้หรือไม่
1. กลิ่น เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด วัสดุหมักที่ดีใช้ได้ต้องมีกลิ่นคล้ายกลิ่นของเห็ดฟาง วัสดุหมักต้องไม่มีกลิ่นฉุนซึ่งเป็นกลิ่นแอมโมเนียหลงเหลืออยู่ เพราะแอมโมเนียเป็นพิษต่อเห็ด
2. สี ควรมีสีคล้ำกว่าเดิม
3. ความชื้นประมาณ 60-65% ทดสอบโดยใช้มือบีบ หากอยู่ในระดับดังกล่าวน้ำจะไม่เยิ้มหรือเล็ดออกมาตามง่ามมือ หากน้ำเล็ดออกมาตามง่ามมือ แสดงว่าเปียกเกินไปต้องผึ่งให้หมาดเสียก่อน
ภาชนะที่ใช้บรรจุปุ๋ยหมัก
อาจเป็นกระป๋องอลูมิเนียม ขวดแก้วปากกว้าง หรือถุงพลาสติกทนร้อน
การบรรจุวัสดุหมักในภาชนะ
เนื่องจากเห็ดฟางและเห็ดถั่วที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว (เส้นใยจะเต็มภาชนะภายในเวลาประมาณ 5-7 วัน) ดังนั้นการบรรจุวัสดุหมักลงในภาชนะจึงไม่ควรให้แน่นเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้มีอากาศอยู่มากพอกับความต้องการของเห็ดเช่น ขวดหรือกระป๋องให้บรรจุหลวมๆจนเต็มปาก จากนั้นใช้หลังมือกดลงไปให้ต่ำกว่าปากประมาณ 1-1.5 นิ้ว แล้วเช็ดบริเวณปากขวดให้สะอาดก่อนปิดฝา ฝาที่ใช้ควรเป็นฝาอลูมิเนียมหรือพลาสติค อย่าปิดให้แน่นเกินไป ถ้าเป็นถุงพลาสติคอย่าปิดให้แน่นเกินไป ถ้าเป็นถุงพลาสติคเมื่อใส่วัสดุหมักลงไปแล้วอย่ากดเป็นอันขาด เพียงแต่ยกปากถุงแล้วกระแทก 2-3 ครั้ง จากนั้นปิดจุกสำลี
การนึ่งฆ่าเชื้อ
หลังจากบรรจุวัสดุหมักลงภาชนะและปิดจุกเรียบร้อยแล้ว นำไปนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ติดมาก่อน โดยใช้หม้อนึ่งที่อัดความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เวลา 1-2 ชั่วโมง
การเพาะเชื้อ
หลังจากการนึ่งฆ่าเชื้อ ทิ้งไว้ให้เย็นก็เพาะเชื้อลงไป กานทำในขั้นตอนนี้ควรทำในห้องที่มิดชิด หรือในตู้สำหรับเขี่ยเชื้อ ใช้ผ้าปิดปากและจมูกกันไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์จากปากและลมหายใจตกลงในวัสดุหมักขณะทำการเพาะเชื้อ
หัวเชื้อที่นำมาใช้ควรเลือกที่เส้นใยเพิ่งขึ้นใหม่ๆ ก่อนใช้เขย่าจนเมล็ดข้าวที่ติดอยู่หลุดออกจากกัน หรือใช้ลวดจุ่มแอลกอฮอล์ลนไฟช่วยตะกุยเมล็ดข้าวหลุดออกจากกันก็ได้ จากนั้นแง้มปากขวด กระป๋องหรือเปิดจุกสำลี (แล้วแต่ชนิดของภาชนะที่ใช้บรรจุวัสดุหมัก) เทหัวเชื้อลงไป 10-15 เมล็ด ปิดฝาไว้เหมือนเดิม ในการเพาะเชื้อลงในวัสดุหมัก นอกจากจะใช้หัวเชื้อทำจากเมล็ดข้าวแล้วอาจใช้เชื้อจากกระป๋องหรือถุงที่เส้นใยเต็มแล้วต่อลงในอาหารใหม่ก็ได้ การต่อเชื้อด้วยวิธีนี้ทำได้โดยใช้ช้อนโลหะก้านยาวตักเชื้อประมาณ 1 ช้อนพูนใส่ลงในวัสดุหมัก ก่อนและหลังใช้ช้อนให้จุ่มแอลกอฮอล์และลนไฟทุกครั้ง ไม่ควรต่อเกิน 3-5 ครั้งเพราะเชื้อเห็ดจะอ่อน
จากนั้นนำวัสดุหมักที่เพาะเชื้อลงไปแล้วเก็บไว้ในมืดที่มีอุณหภูมิค่อนข้างสูงประมาณ 34-380 C ภายในเวลาประมาณ 4-6 วัน เส้นใยเห็ดจะขึ้นทั่งก้อนวัสดุหมัก ซึ่งนำเอาไปใช้ได้ อย่าทิ้งเชื้อเห็ดไว้นานจนกระทั่งสีของเส้นใยเปลี่ยนหรือรวมตัวกันเป็นดอก แสดงว่าแก่เกินแล้ว
การทำเชื้อแห้ง
ถ้าต้องการเก็บเชื้อเห็ดไว้นานๆ ให้นำเอาเชื้อที่เส้นใยขึ้นเต็มใหม่ๆมาผึ่งลมให้แห้ง หลังจากนั้นนำไปตากแดดจนกระทั่งแห้งสนิท แล้วนำไปอัดให้แน่นเป็นแท่ง ก่อนที่จะนำแท่งเชื้อเห็ดแห้งมาใช้จะต้องนำเอาไปวางไว้ในที่มีความชื้นสูง 1-2 วันเสียก่อน เช่น วางไว้ในโอ่งที่มีน้ำหรือทรายที่ชุ่มน้ำ ผลผลิตจากเชื้อแห้งไม่ต่างจากการใช้เชื้อสด
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- การเพาะเห็ด 1/4 : การทำอาหารวุ้น
- การเพาะเห็ด 2/4 : การคัดเลือกดอกเห็ดและการแยกเนื้อเยื่อ
- การเพาะเห็ด 3/4 : การทำเชื้อเห็ด
- การเพาะเห็ดโอง
- เห็ดโคนญี่ปุ่น (Yanagi)
- เห็ดหลินจือ
- เห็ดหอม (Shitake)
- เห็ดกับไรดีด
- การถนอมรักษาเห็ดแบบอิตาเลียน
- เห็ดพิษ, การทดสอบ, และการปฐมพยาบาล
- ใช้ไม้ก่อ เพาะเห็ดหอม
- คำถามคำตอบเกี่ยวกับเห็ด