ข้าวชอบน้ำขังจริงหรือ

ใครว่าข้าวชอบน้ำขังกัน ฮึ!……
เราคุ้นเคยกับภาพต้นข้าวตัวเขียวๆ ยืนแช่น้ำในแปลงนา มาตั้งแต่จำความได้จนกระทั่งหนวดเริ่มหงอกแล้ว แต่เคยรู้บ้างไหมว่า มันเป็นความต้องการที่แท้จริงของข้าวหรือไม่ หรือมันจำใจต้องยืนแช่น้ำอยู่อย่างนั้นทั้งๆ ที่ใจไม่ชอบเลย  มีรายงานจากนักวิชาการเกษตรทั้งไทยและเทศยืนยันตรงกันว่า ข้าวเป็นพืชที่ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำขังในแปลงนาตั้งแต่ปลูกไปจนถึงใกล้เก็บเกี่ยว เพียงแต่การที่ชาวนาไขน้ำเข้านามากมายอย่างนั้น ก็เพื่อสะดวกในการตีดินให้เป็นโคลนซึ่งจะง่ายต่อการปักดำต้นข้าว..ลองคิดดูซิว่าถ้าจิ้มต้นพืชปลูกในดินแข็งๆ แล้วรากจะไม่เจ็บช้ำแย่เหรอ อาจงอแงถึงตายได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเตรียมแปลงทำเทือก(คือทำดินให้เป็นขี้โคลน) เพื่อง่ายต่อการจิ้ม(ปักดำ)ต้นข้าวลงในดินนา นอกจากนี้การทำเทือกยังช่วยลดการแข่งขันกับวัชพืชอีกด้วย (วัชพืชก็คือพวกพืชที่เราไม่ต้องการให้ขึ้นนั่นแหละ) ซึ่งถ้าใครคิดว่าเป็นการลำเอียงหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพการเจริญเติบโตของวัชพืช ก็ตามใจ ขอให้สร้างความเป็นธรรมเฉพาะในแปลงนาของคุณก็แล้วกันนะ ส่วนผมนั้นคิดว่าไม่ฆ่าด้วยสารเคมีก็ถือว่าได้บุญแล้ว ไม่เกิดมลพิษกับโลก

ในช่วงปักดำข้าวนั้นก็ต้องขังน้ำไว้ให้สูงประมาณหนึ่งฝ่ามือจากผิวดินเพราะต้องการให้ระดับน้ำคอยพยุงต้นข้าวให้ตั้งตรง ไม่โอนเอนตามลมพัดลมเพ 
(เหมือนใจใครคนหนึ่ง) จะทำให้รากข้าวไม่ยอมเกาะยึดกับดินซะที จะพาลพะโลตายไปเลย อีกทั้งยังป้องกันปูกั้นหนูมากัดกินยอดข้าวอีกด้วย  หลังจากข้าวฟื้นตัวแล้วก็ไม่จำเป็นต้องขังน้ำไว้ตลอด
การให้น้ำแบบแห้งๆ เปียกในนา ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดก๊าซไข่เน่าในดินนา และยังเป็นการเติมออกซิเจนให้รากได้หายใจและแข็งแรงอยู่เสมอ เมื่อข้าวเริ่มแตกกอผลิใบใหม่ได้แล้วก็จะสร้างใบคลุมพื้นดินนาทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ไม่ต้องกลัวเกรงวัชพืชทั้งหลายจะขึ้นแข่งขันอีก และยังช่วยรักษาการระเหยของน้ำในนาได้อีกด้วย

การให้น้ำแบบแห้งๆ เปียกๆ ในช่วงออกรวง ยังช่วยป้องกันต้นข้าวหักล้มได้อีกด้วย ซึ่งทางภาคเหนือกลัวเกรงข้าวหักล้มกันมากเพราะทำให้ได้ผลผลิตต่ำลงถึง 
50-60% โดยเฉพาะหักล้มก่อนออกรวง โดยปกติแล้วในราวต้นเดือนตุลาคมมีลม ”ข้าวต้าว” ที่มาเยือนทุกปีเพื่อบอกถึงการเปลี่ยนฤดูกาลเข้าหน้าหนาว ซึ่งมักเกิดปัญหาข้าวหักล้มนั่นเอง

จากผลการทดลองของศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก 
(แฮ่ม..พูดแบบนักวิชาการซะหน่อย) ได้ยืนยันชัดเจนถึงความต้องการน้ำของพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ว่า แค่ดินเปียกแฉะก็สามารถให้ผลผลิตสูงเทียบเท่าขังน้ำระดับ 5-15 ซม. (แสดงในตาราง)  ซึ่งผมได้ศึกษาเรื่องนี้อยู่ก็ได้ผลเช่นกัน จะมีปัญหาก็เพียงเรื่องเดียวคือ หนูนา (คนละตัวกับหนูปากแดงในค๊อฟฟีชอฟ) ที่มักจะมากัดกินรวงอ่อนและต้นข้าวได้อย่างสบายเพราะไม่มีน้ำขังในนา ถ้าป้องกันกำจัดหนูควบคู่ไปด้วยแล้ว จากนั้นก็คงเหลือแต่ปัญหาโดนพ่อค้าข้าวกดราคารับซื้อเท่านั้นแหละจ้า

ระดับน้ำขัง               ผลผลิตข้าวเปลือกพันธุ์ขาวดอกมะลิ (กก./ไร่)
0(ดินแฉะด้วยน้ำ)     
659 a
5                              
640 a
10                            
631 a
15                            
622 a
20                            550 b

หมายเหตุ  ตัวอักษรเหมือนกันแสดงว่าไม่แตกต่างกันทางสถิติ CV. = 5%
(เป็นผลงานทดลองของศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ที่มา: กรมวิชาการเกษตร. 2542. งานวิจัยข้าวกับ GAP. การประชุมวิชาการประจำปี 2542. 29 มีนาคม-2 เมษายน 2542. โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส นครราชสีมา. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพ. น. 15-16)

สาวิตร  มีจุ้ย
สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay