แนวทางการป้องกันและฟื้นฟูลำไยต้นโทรม (โรคหงอยลำไย)

ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่า โรคหงอยลำไย เกิดจากอะไร แต่จากข้อมูลที่มีอยู่จนถึงปัจจุบัน อาจกำหนดแนวทางในการป้องกันไม่ให้ลำไยหงอย (ให้ต้นลำไยสมบูรณ์ แข็งแรงไม่ใช่อ้วน)  หรือแนวทางในการฟื้นฟูได้ดังนี้

1) การจัดการทางด้านธาตุอาหาร
เกษตรกรมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากพื้นที่ทุกปี ซึ่งเป็นการนำธาตุอาหารออกนอกพื้นที่ไปด้วย  ซึ่งจากการวิเคราะห์ ปริมาณธาตุอาหารที่ติดไปกับผลผลิตพบว่า มีปริมาณฟอสฟอรัส น้อยกว่า โพแทสเซียมและไนโตรเจนประมาณ 10 เท่า รวมทั้งในดินก็มีปริมาณฟอสฟอรัสค่อนข้างสูงอยู่แล้ว และเกษตรกรยังมีการให้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 8-24-24 ติดต่อกันมานาน ซึ่งปริมาณฟอสฟอรัสที่มากเกินไปอาจไปมีผลต่อความเป็นประโยชน์ของสังกะสี ทำให้พืชขาดธาตุอาหารเสริมสังกะสีก็เป็นได้ (อาการขาดสังกะสีจะมีอาการใบเล็ก ข้อปล้องสั้น การแตกช่อใบจะเป็นกระจุก) จากเหตุผลดังกล่าว รวมทั้งจากข้อมูลผลการทดลองจัดการกับต้นลำไยในสวนเกษตรกร ทำให้ลำไยมีอาการดีขึ้น ดังนั้น เกษตรกรอาจมีการให้ปุ๋ยตามปกติและควรมีการลดการใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัส (อาจลดลง จากที่เคยใส่ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งอาจต้องใช้แม่ปุ๋ยมาผสมเองและควรวิเคราะห์ดินก่อนใส่ปุ๋ย) และมีการให้ธาตุอาหารเสริมต่างๆ เพื่อบำรุงต้นลำไยดังนี้ คือ
  1. สังกะสี: ในอัตรา 25 กรัม สังกะสีซัลเฟต (ZnSO4) ต่อ พื้นที่ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตร ต่อปี
  2. โบรอน: ในอัตรา 2 กรัม ผงบอแรกซ์ (borax) ต่อ พื้นที่ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตรต่อปี
  3. ทองแดง: ในอัตรา 3 กรัม ทองแดงซัลเฟต (CuSO4) ต่อ พื้นที่ทรงพุ่ม 1 ตารางเมตรต่อปี

โดยอาจให้สารดังกล่าวโดยแบ่งใส่  
2 ครั้ง และมีการให้ธาตุอาหารเสริมทางใบควบคู่กันไปด้วย นอกจากปริมาณธาตุอาหารเสริมแล้ว อีกตัวที่น่าจะคำนึงถึงก็คือ แคลเซียม และแมกนีเซียม เพราะดินมีโพแทสเซียมสูงมาก ซึ่งหากดินค่อนข้างเป็นกรดอาจให้ในรูปของ โดโลไมด์ 1-2  kg / พื้นที่ทรงพุ่ม 1ตารางเมตร/ปี  รวมทั้งมีการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และพรวนดินใต้ต้นเพื่อกระตุ้นให้ในการสร้างรากใหม่

2) การจัดการอื่น ๆ
นอกจากจะจัดการด้านธาตุอาหารแล้วยังต้องมีการจัดการอื่นๆ อีก ดังเช่น อย่าให้ลำไยขาดน้ำในช่วงเวลาที่ลำไยแตกช่อใบ  เมือลำไยแทงช่อใบออกมาแล้วต้องอย่าให้แมลงกัดกินใบ เพราะใบที่แตกออกมาใหม่จะเป็นใบที่มีประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงดีกว่าใบเก่า  ซึ่งอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงก็คือ การตัดแต่งกิ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการตัดกิ่งที่ทึบ บังแสงซึ่งกันและกัน ทำให้ใบที่ถูกบังแสงมีประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงลดลง(กินเท่ากันแต่ทำงานน้อย) แล้ว ถ้าเราเปรียบรากลำไยกิ่งตอน ซึ่งมีรากน้อย เสมือน ปั๊มสูบน้ำที่มีแรงจำกัด และส่วนกิ่งและยอดลำไยเหมือนกับท่อน้ำ จะเห็นได้ว่าหากมีท่อน้ำอยู่มากเกินไป จะทำให้ปั๊มที่มีแรงจำกัดไม่สามารถส่งน้ำไปยังปลายท่อได้แรงเพียงพอทำให้น้ำไหลช้า ต้นลำไยก็เช่นกัน รากที่มีอยู่จำกัดก็ไม่สามารถส่งอาหารไปเลี้ยง ทุกกิ่งทุกยอดได้อย่างดีและเพียงพอ อาจทำให้ต้นลำไยแสดงอาการขาดธาตุอาหารได้ ดังนั้นจึงต้องทำการปิด ลดท่อแยกลงเพื่อให้น้ำจากปั๊มส่งถึงปลายท่อได้แรงขึ้น หรือต้องตัดแต่งกิ่งลำไยออกบ้างเพื่อให้รากสามารถดูดธาตุอาหารไปเลียงส่วนยอดได้ทัน

ที่มา: 
ยุทธนา เขาสุเมรุ ชิติ ศรีตนทิพย์ และสันติช่างเจรจา, 2542. อาการต้นโทรม(โรคหงอยของลำไย) และแนวทางฟื้นฟู เอกสารประกอบคำบรรยายการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การป้องกันกำจัดโรคหงอยลำไย จัดโดย สำนักงานส่งเสิรมการเกษตรภาคเหนือ ณ โรงแรมเชียงใหม่การเด้น วันที่ 18 กรกฎาคม 2542.
หมายเหตุ: โครงการวิจัยการแก้ปัญหาต้นโทรมของลำไยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay