ลำไยนอกฤดู: อดีต ปัจจุบันและอนาคต

ปัญหาในอดีตของการผลิตลำไย

การผลิตลำไยในประเทศไทยส่วนใหญ่พื้นที่การผลิตอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ในอดีตการปลูกลำไยมีปัญหาที่สำคัญและเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเป็นอย่างมากซึ่งทำให้เกษตรกรผู้ปลูกเองสูญเสียรายได้ต่อปีเป็นจำนวนมากปัญหานั้นก็คือการออกดอกและติดผลไม่สม่ำเสมอของต้นลำไย บางปีมีการออกดอกและติดผลมาก บางปีมีการออกดอกและติดผลน้อยหรือมีการออกดอกและติดผลปีเว้นปี แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องการออกดอกของลำไยสามารถแก้ไขได้โดยการใช้สารโปแตสเซียมคลอเรต เพื่อกระตุ้นหรือชักนำการออกดอกของลำไย โดยเฉพาะในแหล่งผลิตลำไยที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และพะเยา ซึ่งกรรมวิธีการใช้สารโดยการราดทางดิน (ละลายน้ำแล้วราดภายในทรงพุ่ม หรือหว่านสารภายในทรงพุ่มแล้วให้น้ำตาม) หรือวิธีการพ่นทางใบ วิธีใดวิธีหนึ่งก็สามารกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ ภายใน 21-35 วัน ในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2541 และการให้สารในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เมษายน กรกฎาคม และดือนสิงหาคม 2542 (ชิติและคณะ,ข้อมูลยังม่ได้ตีพิมพ์) (ชิติ, 2542) หรือเกษตรกรบางรายมีการใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน ซึ่งมีการใช้ส่วนใหญ่ในช่วงฤดูฝน เพราะในช่วงฤดูฝนความชื้นในดินและในอากาศค่อนข้างสูง ทำให้ระยะเวลาในการผลิช่อดอกค่อนข้างนาน อาจใช้ระยะเวลามากกว่า 30 วันจนถึง 60 วัน หรือจากให้สาร และการพ่นสารอาจมีการพ่นซ้ำรวม 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วันหลังการพ่นสารครั้งแรก การราดสารทางดินให้ความเข้มข้นของสารตั้งแต่ 2.5-10 กรัมต่อตารางเมตรของทรงพุ่ม ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ว่าใช้กับพันธุ์ใด เช่นพันธุ์ดอ แห้ว เบี้ยวเขียว ใบดำ และพวงทอง ใช้ตามพันธุ์ ให้สารตั้งแต่ 5-10 กรัมต่อตารางเมตรของทรงพุ่ม พันธุ์สีชมพูใช้ความเข้มข้น 2.5-5 กรัมต่อตารางเมตรของทรงพุ่ม  ช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ อาจใช้ความเข้มข้นต่ำ แต่ช่วงตั้งแต่เมษายนถึงกันยายน อาจใช้ระดับความเข้มข้นสูง แต่การพ่นทางใบ ทุกพันธุ์ใช้ความเข้มข้นเดียวกันคือ 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อลิตร (200-400 กรัม (ขีด) ต่อน้ำ 20 ลิตร

ข้อมูลจากการวิจัยในปัจจุบัน

1.  การใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต
1.1 การให้สารทางดิน โดยทดลองกับพันธุ์ดอ พันธ์แห้ว พันธุ์สีชมพู พันธุ์ใบดำ พันธุ์เบี้ยวเขียว พันธุ์พวงทอง และพันธุ์พื้นเมือง สามารชักนำให้ผลิช่อดอกได้ โดยใช้ระยะเวลาใกล้เคียงกันประมาณ 21-28 วันความเข้มข้นของสารที่ใช้-พันธุ์ดอ พันธุ์แห้ว พันธุ์ใบดำ พันธุ์พวงทอง พันธุ์เบี้ยวเขียวและพันธุ์พื้นเมือง ใช้สาร 5  ถึง10กรัมต่อตารางเมตรของทรงพุ่ม-พันธุ์สีชมพู ใช้สาร 2.5-5  กรัมต่อตารางเมตรของทรงพุ่ม
1.2 การฉีดพ่นทางใบ โดยทดลองกับพันธุ์ดอ พันธุ์แห้ว พันธุ์สีชมพู และพันธุ์เบี้ยวเขียว โดยใช้ความเข้มข้นเท่ากันประมาณ 1-2 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร (20-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 2-4 ขีดต่อน้ำ 200 ลิตร) ในช่วงหน้าฝนถ้ามีฝนตกควรมีการพ่น 2 ครั้งห่างกัน 7 วัน

2. การออกดอกและติดผล
2.1  การออกดอกหรือการได้รับสารโปแตสเซียมคลอเรต พบว่าหลังมีการให้สารโดยการให้ทางดินและพ่นทางใบ กิ่งหรือดอกลำไยที่มีการแทงช่อดอกจะออกก่อนหรือหลัง จะมีปัจจัยเกี่ยวข้องกับแสง โดยกิ่งหรือยอดลำไยที่ได้รับแสงแดดเต็มที่จะมีการแทงช่อดอกก่อน กิ่งหรือยอดที่ได้รับแสงไม่เต็มที่หรือในส่วนที่ได้รับสงน้อย โดยกิ่งที่อยู่ด้านทิศตะวันออก กิ่งหรือยอดที่อยู่ปลายยอดของทรงพุ่ม และกิ่งที่อยู่ด้านทิศตะวันตกมีการแทงช่อดอกน้อย กิ่งที่อยู่ด้านทิศเหนือ
2.2 ต้นลำไยที่ได้รับสารในปริมาณที่มากจากการราดสารทางดิน มีการอกดอกและติดผลมาก อาจมีผลทำให้ต้นลำไยมีการแตกใบอ่อนช้า อาจมีผลทำให้เกิดอาการต้นโทรมได้ หรือระยะเวลาในการฟื้นตัวค่อนข้างใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และการให้ซ้ำต้นเดิมกับลำไยพันธุ์ดอ หรือจากเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายน 2542 และแตกช่อใหม่ช่วงสิงหาคม 2542 เพียง 1 ครั้ง และราดสารซ้ำเดือนตุลาคม 2542 พบว่าการกระตุ้นให้ต้นลำไยแทงช่อดอกได้แต่ช่อดอกจะมีลักษณะเป็นช่อดอกล้วน และช่อใบปนช่อดอก และช่อดอกจะค่อนข้างสั้นและไม่สมบูรณ์
2.3. การใช้สารในช่วงเดือนตุลาคม 2541 ถึง กุมภาพันธ์ 2542 พบว่าต้นลำไยมีการออกดอกและติดผลมากเกินไปทำให้ผลผลิตมีขนาดเล็กไม่ได้คุณภาพ แนวทางแก้ไขโดยการบำรุงต้นให้สมบูรณ์ หรือการตัดแต่งช่อผล และการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนสิงหาคม 2542 พบว่าต้นลำไยมีการออกดอกค่อนข้างช้าเนื่องจากเป็นช่วงที่มีฝนตกบ่อยมากทำให้เกิดการชะล้างสารมาก และช่วงอากาศปิด(มืดครึ้ม)ทำให้ต้นลำไยออกดอกช้าหรือออกดอกน้อย เกษตรกรบางรายมีการราดสารซ้ำ และการผลิตลำไยในช่วงฤดูฝนมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงระบาดก็ฉีดสารป้องกันกำจัดลำบากเนื่องจากฝนตกบ่อยทำให้ชะล้างสารเคมีที่พ่น และต้นลำไยที่มีการผลิช่อดอกในช่วงนี้ พบว่าการเจริญของรังไข่ของผลลำไยมีแนวโน้มว่ามีการเจริญทั้ง 2 รังไข่ในดอกเดียวกันทำให้เกิดปริมาณผลแฝดหรือผล 2 ผลในดอกเดียวกันในปริมาณที่ค่อนข้างสูง
 2.4 ในช่วงการกระตุ้นหรือชักนำโดยการใช้สารในช่วงเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน2541 นั้นหรือหลังจากมีการติดผลแล้ว ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2541 ถึงเดือนมกราคม 2542ลำไยจะมีการผลิช่อดอกตามธรรมชาติ จะพบว่าในช่อดอกที่มีการออกดอกและติดผลน้อยหรือไม่ติดผลจะพบช่อดอกลำไยแทรกออกมาที่ช่อดอกเก่าที่ติดผลแล้ว ทำให้มีการออกดอกและติดผล  2 รุ่นในช่อดอกเดียวกัน  และต้นลำไยที่มีการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2542 ถึงเดือนมกราคม 2543 หรือ ต้นที่มีผลผลิตยังไม่ได้เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม 2543 ต้นลำไยมีการแท่งช่อดอกอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นต้นที่กำลังเสร็จแล้วหรือกำลังเก็บเกี่ยวหรือต้นที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวก็ตาม เนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม 2542 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2543 เป็นช่วงที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นปีที่ค่อนข้างมีอากาศหนาวเย็นเป็นเวลานานทำให้ต้นลำไยมีการแท่งช่อดอกเป็นจำนวนมาก
2.5 การให้สารซ้ำคือให้สารในปีการผลิต 2541/2542 และให้ซ้ำต้นเดิมในปีการผลิต 2542/2543พบว่าต้นลำไยสามารถออกดอกได้ แต่ถ้าต้นที่ไม่ค่อยสมบูรณ์จะมีผลทำให้ช่อดอกสั้นและช่อดอกไม่ค่อยสมบูรณ์

3. การจัดการและการดูแลรักษา
3.1. หลังจากให้สารถ้ามีการให้น้ำไม่สม่ำเสมอ หรือขาดน้ำ ทำให้ใบร่วงได้ค่อนข้างรวดเร็ว และการออกดอกก็อาจจะช้าลงด้วย
3.2 การผลิตลำไยนอกฤดูหรือในฤดูในปัจจุบันมีการทำกันค่อนข้างแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดเชียงใหม่หรือลำพูน เกษตรกรมีการแข่งขันกันมากในพื้นที่เดียวกันหรือในหมู่บ้านเดียวกันมีการให้สารและต้นลำไยออกดอกและติดผลมากกว่า 10 รุ่น อาจทำให้มีผลต่อการระบาดของโรคและแมลงศัตรูลำไยได้และอาจมีผลต่อราคาของลำไยได้เพราะลำไยเก็บเกี่ยวไม่พร้อมกันอาจทำให้อำนาจการต่อรองกับพ่อค้าลดลง

อนาคตของการผลิตลำไย

การใช้สารโพแทสเซี่ยมคลอเรตเป็นการแก้ไขเฉพาะปัญหาการออกดอกของลำไยเท่านั้น แต่การแก้ไขปัญหานี้ได้ อาจเป็นการเริ่มต้นของปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น  ซึ่งในแต่ละช่วงของการผลิตลำไยนอกฤดูในแต่ละปีมีปัญหาแตกต่างกัน ในแต่ละสภาพพื้นที่ก็มีปัญหาอาจจะแตกต่างกัน เช่นการผลิตลำไยนอกฤดูในปีการผลิต 2541/2542 ซึ่งต้นลำไยมีการออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม 2541 ถึงเดือนมกราคม 2542 พบว่าต้นลำไยมีการออกดอกและติดผลมากเกินไป แต่ในการผลิตลำไยนอกฤดูในปีการผลิต 2542/2543 ซึ่งต้นลำไยมีการออกดอกในช่วงเดือนตุลาคม 2541 ถึงเดือนมกราคม 2542 พบว่าต้นลำไยมีการออกดอกค่อนข้างมากแต่มีการติดผลค่อนข้างต่ำ และปัญหาที่ค่อนข้างสำคัญคือปัญหาเรื่องโรคและแมลงอาจทำให้มีการระบาดได้ทั้งปี การพบปัญหาโรคและแมลงศัตรูลำไยตัวใหม่ก็เกิดขึ้น ซึ่งในอนาคตนั้นปัญหาของการทำลำไยนอกฤดูคือการเตรียมต้นลำไยให้มีความสมบูรณ์ก่อนการใช้สารกระตุ้นการออกดอกและทำอย่างไรไม่ให้ต้นลำไยมีการออกดอกและติดผลมากเกินไป  หรือออกดอกมากแต่ไม่ค่อยติดผล ข้อที่ค่อนข้างสำคัญคือการผลิตลำไยให้มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการหรือทำให้ผลผลิตลำไยได้เกรดจัมโบ้มากๆ ซึ่งต้องอาศัยการจัดการหลายๆ ด้าน เช่นการควบคุมโรคและแมลง การจัดการด้านธาตุอาหารและการจัดการเรื่องน้ำ ซึ่งในอนาคตการผลิตลำไยจะแข่งขันกันในด้านคุณภาพมากขึ้น และการผลิตลำไยนอกฤดูหรือช่วงฤดูกาลปกติในอนาคตควรคำนึงถึงผลกระทบของสารเคมีต่อสภาพแวดล้อม ผลกระทบของสารเคมีต่อต้นลำไย ผลกระทบของสารเคมีต่อผลผลิตและผลกระทบของสารเคมีต่อผู้บริโภคด้วย

ชิติ ศรีตนทิพย์ สันติ ช่างเจรจาและยุทธนา เขาสุเมรุ
สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay