คำถามคำตอบเกี่ยวกับมะพร้าว
Q: อยากทราบว่ามะพร้าวกะทิเกิดขึ้นได้อย่างไร
A: มะพร้าวกะทิ เป็นมะพร้าวที่เนื้อในผลมีลักษณะพิเศษ โดยเนื้อมะพร้าวจะฟูขึ้นมา บริเวณผิวหน้ามีน้ำข้นใสเหมือนวุ้น รับประทานหรือทำขนมหวานมีรสชาติดี การเกิดมะพร้าวกะทิจะเป็นเพียงบางผลในแต่ละทะลาย จัดเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมของมะพร้าวอย่างหนึ่ง ซึ่งลักษณะเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้--------------------
Q: ปลูกมะพร้าวได้ 4 ไร่ หลายปีผ่านมายังไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อต้นมะพร้าวเริ่มให้ผล กลับมีด้วงชนิดหนึ่งมักเข้ามากัดกินยอดทำให้ขาดวิ่น และบางต้นถูกด้วงเจาะยอดถึงตายก็มี จึงขอเรียนถามว่า ด้วงชนิดนี้เป็นชนิดใด มีวงจรชีวิตอย่างไร และจะป้องกันและแก้ไขอย่างไร
A: ด้วงที่กัดยอดมะพร้าว คือ ด้วงแรด เจาะยอดมะพร้าวและเจาะยอดปาล์มน้ำมัน มี 2 ชนิด คือ ด้วงแรดชนิดเล็ก ชนิดนี้พบการกัดกินยอดมะพร้าวทั่วทุกภูมิภาค ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือ ด้วงแรด ชนิดลำตัวมีขนาดใหญ่ พบการระบาดมากตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป เนื่องจากชอบเข้ากัดกินยอดปาล์มน้ำมัน ลักษณะการเข้าทำลาย โดยตัวเต็มวัยบินเข้าไปกัดเจาะโคนทางมะพร้าว หรือโคนทางปาล์มน้ำมัน เข้ากัดกินยอดอ่อนทำให้ต้นมะพร้าวหรือปาล์มน้ำมันยืนต้นตาย ส่วนต้นที่ไม่ถูกเจาะยอดหรือเจาะเฉียดยอด เมื่อรอดตายจะเจริญเติบโตเป็นยอดขาดวิ่น ใบมีรูปทรงแปลกตา
วงจรชีวิต ของด้วงแรดทั้งสองชนิดคล้ายคลึงกัน คือตัวเต็มวัยมีปีกแข็งสีดำ ผิวมันวาว ใต้ท้องสีน้ำตาลแดง ด้วงแรดชนิดเล็ก มีขนาดลำตัวกว้าง 20 มิลลิเมตร และยาว 30 มิลลิเมตร ส่วนด้วงแรดชนิดตัวใหญ่ มีลำตัวกว้าง 25 มิลลิเมตร และยาว 50 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยมีอายุ 5-9 เดือน เพศผู้และเพศเมียจะผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาว และวางไข่ลงที่ซากเน่าเปื่อยของต้นมะพร้าวและปาล์มน้ำมัน หรือกองปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และกองขยะ อยู่ระดับลึกจากผิวดิน 5-15 เซนติเมตร ไข่รูปกลมรี สีขาวนวล ขนาดกว้าง 2-3 มิลลิเมตร และยาว 3-4 มิลลิเมตร ไข่จะฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 10-12 วัน ตัวหนอนมีสีขาว หัวกะโหลกสีน้ำตาลอ่อน ลำตัวยาว 7.5 มิลลิเมตร และกว้าง 2.5 มิลลิเมตร มีขาจริง 3 คู่ กินซากพืชที่ผุพังเป็นอาหาร ช่วงเวลาเป็นตัวหนอนประมาณ 80-150 วัน จากนั้นจึงเข้าระยะดักแด้ ลำตัวมีสีน้ำตาลแดง ขนาดลำตัวกว้าง 22 มิลลิเมตร ยาว 50 มิลลิเมตร ดักแด้ของเพศผู้จะมีรยางค์ขนาดเล็กคล้ายนอแรด ยื่นยาวให้เห็น ส่วนในเพศเมียไม่มีระยะดักแด้ ใช้เวลา 23-28 วัน จากนั้นเป็นช่วงตัวเต็มวัยอีก 90-180 วันวิธีป้องกันกำจัด ให้หมั่นกำจัดกองขยะ ซากพืช กองมูลสัตว์ให้สะอาด หากไม่สามารถทำความสะอาดได้ แนะนำให้เกลี่ยของซากพืชให้กระจายต่ำลง หนาหรือลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร ทำความสะอาดบริเวณคอต้นมะพร้าว และปาล์มน้ำมัน หากพบเริ่มมีการเข้าทำลายจากด้วงแรด ให้นำทรายหยาบโรยรอบคอต้นมะพร้าว และปาล์มน้ำมันให้ทั่ว หากบริเวณดังกล่าวมีการระบาดรุนแรงให้ป้องกันด้วยเชื้อราเขียว อัตรา 200-400 กรัม คลุกกับซากเน่าเปื่อยของต้นพืชจำนวน 10 ปีบ กองสุมไว้ให้ด้วงแรดลงวางไข่ ภายในเวลา 2 สัปดาห์ ตัวหนอนหรือดักแด้ของด้วงแรดจะตายลงในที่สุด
--------------------
Q: มีแมลงปีกแข็งชนิดเดียวกันกับแมลงดำหนามมะพร้าว บุกสวนมะพร้าว ควรทำอย่างไร
A: การป้องกันและกำจัด1. ให้สำรวจการระบาดบริเวณยอดอ่อน โดยแมลงชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ หากพบเล็กน้อยให้จับมาทำลายเนื่องจากเคลื่อนไหวได้ช้า
2. ให้ฉีดสารเคมีประเภทดูดซึม เช่น สารโมโนโครโตฟอส ทั้งต้นพันธุ์และต้นที่ปลูก ในสวน ส่วนต้นที่สูงควรฉีดพ่นด้วยเครื่องพ่นแรงดันสูง และควรเก็บเกี่ยวหลังฉีดพ่นเป็นเวลา 2 สัปดาห์
3. ใช้สารเคมีคาร์โบฟูนาน 3% G อัตรา 1-2 ช้อนชา หลอดยอดมะพร้าว และควรเก็บผลผลิตก่อนหยอดหรือหลังยอดไม่น้อยกว่า 60 วัน
4. ต้นมะพร้าวที่ตายควรโค่นทิ้งให้หมด
--------------------
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง