การจัดรังไข่

ผู้เลี้ยงจะต้องจัดหารังไข่ให้เพียงพอจำนวนแม่ไก่งวงที่เลี้ยงแต่ละฝูง อัตราส่วนที่ใช้คือ 1 รังต่อแม่ไก่งวง 4 - 5 ตัว ข้อสำคัญที่ผู้เลี้ยงควรจะได้เอาใจใส่ก็คือ แม่ไก่งวงทุกตัวควรจะไข่ในรังตั้งแต่เริ่มแรกการออกไข่ ถ้าปล่อยให้แม่ไก่งวงไข่ที่พื้น แม่ไก่งวงมักจะทำการฟักไข่ดังกล่าว หรือมีแม่ไก่งวงตัวใดแอบไปนอนมุมมืด ๆ ก็ควรจะจับแม่ไก่งวงนั้นไปวางที่รังไข่เพื่อแสดงให้มันทราบว่าที่ที่มันควรจะไข่เป็นที่รังไข่ ไม่ใช่ที่พื้น นอกจากนี้ไก่งวงตัวที่เดินไป ๆ มา ๆ ในคอก (เพื่อจะหาที่ออกไข่) ก็ควรจะจับไปวางไว้ในรังไข่ด้วยเช่นกัน

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ การที่จะดูว่าผู้เลี้ยงไก่งวงได้ ให้ความเอาใจใส่ดูแลเรื่องนี้ดีหรือไม่ดีก็ดูได้จากวิธีการไข่ของแม่ไก่งวง ผู้เลี้ยงที่มีการเอาใจใส่ดูแล และจัดการดีแล้วจะพบว่ามีแม่ไก่งวงที่วางไข่หรืออกไข่ตามพื้นที่น้อยกว่า 1 % ของไข่ที่ไข่ทั้งหมด ข้อที่ควรระวังที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ หลังจากที่แม่ไก่งวงไข่ครบ 3 สัปดาห์ มักจะทำการกกไข่ ดังนั้น แม่ไก่งวงจะไข่ดีหรือไม่ดีจึงขึ้นอยู่กับการจัดการเรื่องการกกว่าดีเลวอย่างไรด้วย ถ้าหากผู้เลี้ยงไก่งวงไม่หาวิธีการควบคุมการกกไข่แล้วพบว่าไก่งวงที่เลี้ยงให้ไข่น้อยกว่าปกติ

ยีน (หรือปัจจัย) ที่ควบคุมการกกไข่ของไก่งวงนั้นยังมีอยู่ กว้างขวางในไก่งวงที่นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ถึงแม้ว่านักวิชาการจะพยายามคัดเลือกหรือกำจัดยีนดังกล่าวให้หมดออกไปจากแม่ไก่งวงแต่ก็ ยังไม่ประสบความสำเร็จที่จะทำดังกล่าวได้ และเป็นลักษณะที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่มายังลูกหลานเหลนและต่อ ๆ ไป และนักวิชาการยังพบอีกว่าการกกเป็นลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับเพศ (Sex - linked characteristic) ด้วย แต่บางครั้งถึงแม้ลักษณะหรือยีนนี้จะมีในตัวสัตว์ แต่ไม่อาจไม่แสดงออกมาให้เห็น แต่เมื่อมีลูก ลักษณะนั้นจะถ่ายทอดมายังลูกได้ และทำให้ลูกกลับมีนิสัยชอบกกได้อีก จึงนับว่าเป็นความยุ่งยากต่อการคัดเลือกกำจัดลักษณะดังกล่าวออกไปจากฝูง

ระยะการไข่สูงสุดของไก่งวง จากการศึกษาของนักวิชาการ พบว่าฝูงไก่งวงที่เลี้ยงจะไข่สูงสุด (หรือให้ไข่มาก) หลังจากที่ไก่งวงเริ่มไข่ (คิดเมื่อแม่ไก่งวงได้ 5 %) แล้วประมาณ 3 สัปดาห์ ถ้าปล่อยให้ไก่งวงกก การไข่ก็จะหยุดทันที และระดับการไข่จะลดลงอย่างรวดเร็ว และระดับการไข่ของไก่งวงจะสูงหรือต่ำย่อมขึ้นกับพันธุ์หรือสายเลือดของไก่งวงที่นำมาเลี้ยง

ดังนั้น ถ้าผู้เลี้ยงสามารถควบคุมมิให้ไก่งวงทำการกกไข่ได้ไก่งวงนั้นก็จะได้ไข่ได้มากขึ้น และจากที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า ไก่งวงชอบไข่ในรังไข่ใบเดียวกันตลอดเวลาที่มันเริ่มไข่ ดังนั้น เราจึงอาจใช้ความรู้นี้ทำการควบคุมป้องกันไม่ให้แม่ไก่งวงกกได้ โดยใช้วิธีเมื่อพบว่าแม่ไก่งวงไข่มาระยะหนึ่งแล้ว กำลังจะหยุดไข่เพื่อทำการกกไข่ (ใช้สังเกตจากการไข่ของแม่ไก่งวงว่าจะไข่สูงสุดเมื่อไรเป็นเกณฑ์ และเมื่อพบว่าปริมาณการไข่ลดลงเหลือน้อยมากก็แสดงว่าถึงเวลาแล้ว ก็ทำการย้ายไก่งวงออก จากคอกเดิมไปอยู่คอกใหม่ที่มีการตกแต่งคอกแตกต่างไปจากคอกเดิม ไก่งวงจะมีการปรับตัวใหม่หลังจากนั้นก็จะเริ่มไข่ใหม่ต่อไปแทนที่จะหยุดไข่ทำการกกโดย วิธีนี้ก็จะทำให้ผู้เลี้ยงสามารถบังคับแม่ไก่งวงให้ไข่ได้ตลอดเวลาหรือไข่ได้มากขึ้น)

ผู้เลี้ยงจะต้องมีความรู้ความชำนาญว่าควรจะสลับหรือย้ายคอกเมื่อไร วิธีการหนึ่งที่อาจถือเป็นแนวทางในการชี้ให้เห็นว่าไก่งวงจะเริ่มทำการไข่ดกและถึงเวลาที่จะทำการย้ายคอกได้แล้ว ก็คือการตรวจทุก ๆ เย็น ถ้าพบว่ารังไข่ในคอกมีแม่ไก่งวงนอนอยู่ทุกรังไข่ หรือรังไข่มีแม่ไก่งวงนอนอยู่เกินกว่า 1 ตัว ก็แสดงว่าถึงเวลาแล้วที่จะทำการย้ายหรือสับคอกไก่งวง

แต่อย่างไรก็ตามการย้ายหรือสับคอก ไม่ควรจะทำก่อนที่แม่ไก่งวงจะไข่ได้สูงสุดเสียก่อน หรือไม่ควรสับคอกเมื่อไก่งวงเริ่มไข่แล้วยังไม่ครบ 3 สัปดาห์ และการสับคอกไม่ควรจะทำบ่อยนัก อย่างมากที่สุดก็ควรทำการสับคอกสัปดาห์ละครั้ง หลังจากการสับคอกแล้วแม่ไก่งวงจะไข่ตามปกติอีกอย่างน้อยที่สุดก็อีก 1 วัน ถัดจากวันที่ย้ายคอกไปอยู่คอกใหม่

ถึงแม้ว่าการย้ายคอกจะเป็นส่วนที่จะนำมาใช้ควบคุมการกกของแม่ไก่งวงได้ แต่ก็มิใช่ว่าจะ 100 % ยังจำเป็นต้องอาศัยความเอาใจใส่ดูแลของผู้เลี้ยงช่วยอีกต่างหากเมื่อเห็นว่าไก่งวงตัวใดที่ทำการกก ก็ควรจะคัดออกไป โดยผู้เลี้ยงควรจะหมั่นออกเดินสำรวจดูตอนเช้าทุก ๆ เช้า ก็จะช่วยป้องกันการกกของแม่ไก่งวงได้ดีขึ้นอย่างไรก็ตามลักษณะการกกของไก่งวงยังเป็นลักษณะที่จำเป็นจะต้อง ใช้ความรู้ความชำนาญของผู้เลี้ยงอยู่อีกมากมิฉะนั้นก็จะเป็นการยากในการ พิจารณาว่าไก่งวงที่นอนหมอบอยู่นั้นเป็นการนอนหมอบเพื่อพักผ่อนธรรมดา หรือเป็นการนอนหมอบกกไข่

อย่างไรก็ตาม ตามปกติระยะการไข่ของแม่ไก่งวงจะมีระยะการไข่ประมาณ 8 สัปดาห์ ต่อจากนั้นจะหยุดการไข่ระยะหนึ่งแล้วก็จะกลับไข่อีก ระยะนี้จะห่างหรือสั้นก็อยู่ที่วิธีการจัดการ ดูแลแต่การป้องกันการลดการไข่ของไก่งวงในระยะหลังของการไข่ ยังนับว่าเป็นยากมากที่จะทำการป้องกันได้

การที่ไก่งวงจะไข่ดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้เลี้ยงด้วยว่า ตามปกติแม่ไก่งวงไข่จำนวนเท่าไร และแม่ไก่งวงที่เรียกว่าไข่ดีนั้นควรจะไข่เท่าไร และแม่ไก่งวงที่เราเลี้ยงนั้นสามารถจะไข่ได้ถึงระดับดังกล่าวหรือไม่ ไม่เช่นนั้นแล้วเราก็ไม่ทราบว่าไก่งวงที่เราเลี้ยงไข่ดีหรือไม่ดี

นอกจากนี้ก็ควรจะมีการจดสถิติการไข่ไว้ด้วย เพื่อได้ทราบการเปลี่ยนแปลงของการไข่ว่าเป็นอย่างใด และเมื่อไก่งวงไข่ลดลงอย่างทันทีทันใด ก็จะได้สาเหตุได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด แล้วรีบดำเนินการแก้ไขตั้งแต่ต้นฉบับที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เลี้ยง

เพราะการที่แม่ไก่งวงไข่ลดลงอาจจะเนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ นอกจากกกไข่ของแม่ไก่งวงก็ได้โดยเฉพาะ อาจเกิดจาก
1. ไก่งวงเป็นโรคบางอย่าง
2. ไก่งวงได้รับอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารไม่ถูกต้องตามความต้องการ เช่น อาหารที่ปนปลอมแปลง หรืออาหารที่เสื่อมคุณภาพ เป็นต้น
3. อาจจะเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการที่ผิดไปจากปกติ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เลี้ยงไก่งวงได้เช่นกัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay