พันธุ์มันสำปะหลัง

มันสำปะหลังที่ปลูกในแหล่งปลูกทั่วโลกและในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

1. ชนิดหวาน (Sweet type)

เป็นมันสำปะหลังที่มนุษย์ใช้บริโภคได้ เพราะไม่มีรสขมและเป็นมันสำปะหลังที่มีกรดไฮโดรไซยานิคต่ำเนื้อของมันสำปะหลังจะมีทั้งชนิดเนื้อร่วน นุ่ม และชนิดเนื้อแน่น เหนียว ในประเทศไทยไม่มีการปลูกเป็นพื้นที่ใหญ่ ๆ เนื่องจากมีตลาดจำกัด ส่วนใหญ่จะปลูกรอบ ๆ บ้าน หรือตามร่องสวน เพื่อบริโภคเองในครัวเรือนหรือเพื่อจำหน่ายตามตลาดสดในท้องถิ่นในปริมาณไม่มาก

2. ชนิดขม (Bitter type)

เป็นมันสำปะหลังที่ไม่เหมาะต่อการบริโภคของมนุษย์หรือใช้หัวสดเลี้ยงสัตว์โดยตรง แต่จะใช้สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ เช่น แป้งมัน มันอัดเม็ด แอลกอฮอล์ และเป็นมันสำปะหลังที่มีปริมาณ กรดไฮโดรไซยานิคสูง เป็นพิษมีรสขมและมีปริมาณแป้งสูง 

มันสำปะหลังที่ปลูกในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นชนิดขมสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม พันธุ์ที่ปลูกกันมากเรียกว่า "พันธุ์พื้นเมือง"เป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย มาปลูกครั้งแรกทางภาคใต้ของประเทศไทยที่ศูนย์วิจัยยางสงขลา แล้วนำไปทดลองปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองและบริเวณใกล้เคียง ปรากฏว่าให้ผลดี มีความเหมาะสมจึงขยายไปทั่วประเทศ พันธุ์นี้มีชื่อเรียกต่าง ๆ เช่น พันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ยอดขาว พันธุ์สิงคโปร์ และพันธุ์ระยอง จนปัจจุบันมีพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อการอุตสาหกรรมที่ได้รับรองพันธุ์ มีดังนี้

:: พันธุ์ระยอง 1:

เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้ปลูกทั่วประเทศอยู่ในปัจจุบันนี้ มีการพัฒนาพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง
ลักษณะเด่น 
เป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ของประเทศไทยได้ดี ทรงต้นสูงตรง ต้นพันธุ์มีความแข็งแรงมีความงอกดีและเก็บรักษาได้นาน
ลักษณะประจำพันธุ์ 
ยอดอ่อนสีม่วง ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวอมม่วง ต้นสูงประมาณ 2 - 3 เมตร ลำต้นตั้งตรง มีสีเทาเงินรอยแผลเป็นของใบ (leaf scar) ใหญ่นูน แตกกิ่งน้อยประมาณ 0 - 1 ระดับ หัวยาวเรียวผิวเรียบ เปลือกสีขาวนวลเนื้อสีขาว ส่วนใหญ่จะออกดอกติดผลเมื่ออายุเกินกว่า 1 ปี มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 1 จะมีปริมาณแป้งไม่สูง ประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์

:: พันธุ์ระยอง 2:

พันธุ์ระยอง 2 มีชื่อเดิม CM - 305 - 21 หรือห้วยโป่ง 6 ได้จากการนำเมล็ดลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ Mcol 113 กับพันธุ์ Mcol 22 ที่ศูนย์เกษตรเขตร้อนนานาชาติ (CIAT) ประเทศโคลอมเบีย จากนั้นได้รับการรับรองพันธุ์เป็นพันธุ์แนะนำสำหรับการบริโภค ชื่อพันธุ์ระยอง 2
ลักษณะเด่น 
ผลผลิตสูงเช่นเดียวกับพันธุ์ระยอง 1 เนื้อแน่น เหนียว มีรสหวาน และมีสีเหลือง เหมาะสำหรับบริโภค โดยเฉพาะในรูปของมันทอดกรอบ
ข้อจำกัด
มีเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ในฤดูฝน ไม่สามารถปลูกเพื่อส่งขายโรงงาน อุตสาหกรรมแป้ง หรือมันเส้นได้ 
ลักษณะประจำพันธุ์ 
ยอดอ่อนสีเขียวอมม่วง ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวแก่ ก้านใบสีเขียวอมม่วง ต้นสูงประมาณ 1.8 - 2.2 เมตร ลำต้นโค้ง สีน้ำตาลอ่อนอมเขียว หัวไม่ดก เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลืองอ่อน มักจะไม่ออกดอกภายใน 1 ปี ดอก และผลไม่ดก

:: พันธุ์ระยอง 3:

พันธุ์ระยอง 3 มีชื่อเดิมว่า CM 407 - 7 หรือห้วยโป่ง 4 ได้จากการนำเมล็ดลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างพันธุ์ Mmex 55 กับพันธุ์ Mven 307 ที่ศูนย์เกษตรเขตร้อนนานาชาติ (CIAT) ประเทศโคลอมเบียมาปลูกคัดเลือกในประเทศไทย
ลักษณะเด่น 
มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์ในฤดูฝน หรือ 28 เปอร์เซ็นต์ในฤดูแล้งให้ผลผลิตแป้งดีกว่าพันธุ์ระยอง 1 และมีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคต่ำกว่าพันธุ์ระยอง 1
ข้อจำกัด 
ต้นเตี้ยและแตกกิ่ง ไม่สะดวกในการดูแลรักษา หัวแหลมยาวเก็บเกี่ยวยากกว่าพันธุ์ระยอง 1 และต้องการสภาพแวดล้อมที่ดี มิฉะนั้นจะให้ผลผลิตหัวสดต่ำ
ลักษณะประจำพันธุ์ 
ยอดอ่อนสีเขียวอมม่วง ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวแก่ ก้านใบสีเขียวอมม่วง ต้นสูงประมาณ 1.8 - 2.2 เมตร ลำต้นโค้ง สีน้ำตาลอ่อนอมเขียว หัวไม่ดก เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อในสีเหลืองอ่อน มักจะไม่ออกดอกภายใน 1 ปี ดอก และผลไม่ดก

:: พันธุ์ระยอง 60:

พันธุ์ระยอง 60 มีชื่อเดิมว่า CMR24 - 63 - 43 ซึ่งได้รับการผสมพันธุ์ระหว่าง Mcol 1684 กับพันธุ์ระยอง 1 ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับรองพันธุ์เป็นพันธุ์แนะนำจากคณะกรรมการวิจัย กรมวิชาการเกษตรให้ชื่อว่าพันธุ์ระยอง 60 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวโรกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 
ลักษณะเด่น 
ให้ผลผลิตสูง เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 8 เดือนหรือ 12 เดือน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ลำต้นสูง มีอัตราการขยายพันธุ์สูง
ข้อจำกัด 
ปริมาณแป้งไม่สูง คือประมาณ 19 เปอร์เซ็นต์ในฤดูฝน
ลักษณะประจำพันธุ์ 
ยอดอ่อนสีเขียวอมน้ำตาล ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียว ก้านใบสีเขียวอ่อนปนแดง ต้นสูงประมาณ 1.75 - 2.50 เมตร ลำต้นตั้งตรงมีสีน้ำตาลอ่อน หัวอ้วนและค่อนข้างสั้น เปลือกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อสีครีม ออกดอกและติดผลได้ภายใน 1 ปี

:: พันธุ์ระยอง 90:

พันธุ์ระยอง 90 มีชื่อเดิมว่า (CMC 76 V43) 21 - 1 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ CMC 76 กับ V43 ในปี 2521 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง เมื่อปี พ.ศ. 2543
ลักษณะเด่น 
ผลผลิตสูงและมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง ประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ในฤดูฝน หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ในฤดูแล้ง
ข้อจำกัด 
ลำต้นโค้ง หากมีการแตกกิ่งจะทำให้ปฏิบัติดูแลรักษายาก และต้นพันธุ์เสื่อมคุณภาพเร็วควรใช้ต้นพันธุ์ภายใน 2 สัปดาห์ หลังการเก็บเกี่ยว
ลักษณะประจำพันธุ์ 
ยอดสีเขียวอ่อน ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวแก่ ก้านใบสีเขียวอ่อน ต้นสูงประมาณ 1.60-2.00 เมตร ลำต้น สีน้ำตาลอมส้ม หัวยาวเรียว เปลือกสีน้ำตาลเข้ม เนื้อสีขาว ออกดอกได้ภายใน 1 ปี ถ้า ลำต้นมีการแตกกิ่ง ดอกและผลดกปานกลาง

:: พันธุ์ศรีราชา 1:

พันธุ์ศรีราชา 1 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ MKU2 - 162 กับระยอง 1 โดยผสมที่สถานีวิจัยศรีราชา ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2526
ลักษณะเด่น 
มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับพันธุ์ระยอง 1 แต่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงกว่าพันธุ์ระยะ 1 ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์
ลักษณะประจำพันธุ์ 
สีของยอดอ่อน ก้านใบ และใบใกล้เคียงกับพันธุ์ระยอง 1 และใบใกล้เคียงกับพันธุ์ระยอง 1 แตกต่างจากพันธุ์ระยอง 1 คือ แผ่นใบกลางของพันธุ์ศรีราชา 1 จะเป็นรูปหอก (Lancelate) ส่วนของพันธุ์ระยอง 1 จะมีรอยคอดและโป่งบริเวณปลายเล็กน้อย (Oblanceolate) และสีเนื้อของหัว พันธุ์ระยอง 1 เป็นสีขาว ส่วนของพันธุ์ศรีราชา 1 เป็นสีครีม

:: พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50:

พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 มีชื่อเดิมว่า MKUC 28 - 77 - 3 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ระยอง 1 และพันธุ์ (CMC76ดV43) 21 - 1 หรือพันธุ์ระยอง 90 ที่สถานีวิจัยศรีราชาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และให้ชื่อว่า พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ในปี 2535 
ลักษณะเด่น 
ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทรงต้นสูง ปฏิบัติดูแลรักษาง่าย ต้นพันธุ์แข็งแรงมีความงอกดีและเก็บรักษาได้นาน ผลผลิตและคุณภาพดี คือ มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง
ข้อจำกัด 
จะแตกกิ่งซึ่งเกิดจากการที่มีลำต้นโค้งและกิ่งทำมุมกว้าง จะทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษาและเก็บเกี่ยว ซึ่งจะมีลักษณะข้อจำกัดคล้ายกับพันธุ์ระยอง 90 
ลักษณะประจำพันธุ์ 
ยอดอ่อนสีม่วง ไม่มีขน ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวอมม่วง ต้นสูงประมาณ 2.0 - 3.0 เมตร ลำต้นโค้ง มีสีเทาเงิน แตกกิ่งน้อย หัวมีขนาดสม่ำเสมอ เปลือกสีน้ำตาล เนื้อสีขาว ส่วนใหญ่ไม่พบการติดดอกออกผลภายใน 1 ปี ดอกและผลไม่ดก

:: พันธุ์ CMR 25 - 105 - 112:

เป็นพันธุ์ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการขอรับรองพันธุ์จากคณะกรรมการวิจัย กรมวิชาการเกษตร ซึ่งถ้าได้รับการอนุมัต ิก็จะให้ชื่อว่าพันธุ์ระยอง 5
ลักษณะเด่น 
ผลผลิตสูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ต้นพันธุ์มีความงอกงามดี
ลักษณะประจำพันธุ์ 
ยอดอ่อนสีม่วงอ่อน ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวแก่ ก้านใบสีแดงเข้มต้นสูงประมาณ 1.7 - 2.2 เมตร ลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อนอมเขียว หัวอ้วนสั้นเก็บเกี่ยวง่ายเปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน เนื้อสีขาว ออกดอกได้ภายใน 1 ปี ดอกและผลค่อนข้างดก

:: พันธุ์ห้านาที:

ลักษณะเด่น 
เนื้อร่วนซุย เหมาะสำหรับบริโภคในรูปมันนึ่งหรือมันเชื่อม หรือมันเผา
ข้อจำกัด 
ผลผลิตต่ำ ถ้าปลูกในสภาพไร่
ลักษณะประจำพันธุ์ 
ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ใบที่เจริญเต็มที่สีเขียวอ่อน ก้านใบสีแดงเข้ม ต้นสูงประมาณ 2.5 - 3.5 เมตร ลำต้นสีน้ำตาลอมเขียว หัวยาวเรียว เปลือกนอกขรุขระสีน้ำตาลเข้ม เนื้อสีขาว มักจะไม่ออกดอก ภายใน 1 ปี ดอกและผลไม่ดก

ถ้าปลูกในสภาพไร่ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 6 - 8 เดือน หากเกินกว่านั้นเนื้อจะมีเสี้ยนมากไม่เหมาะจะนำมาบริโภค แต่ถ้าปลูกในสภาพสวนเนื้อจะไม่เป็นเสี้ยน

Kasetbay.com
| Facebook_white
เบอร์โทรศัพท์: --- เบอร์แฟกซ์: ---
ประเทศไทย
Powered by Kaset Bay